ในชีวิต 23 ปีของ ปัน – สิรวิชญ์ จตุรภัทรานนท์ เขาอุทิศตนอย่างหมกมุ่นใหลหลงให้กับศิลปะไทยที่เขาเริ่มฝึกมือมาตั้งแต่วัย 6 ปี อันเป็นกิจกรรมบริหารกล้ามเนื้อมัดเล็กของเขาให้แข็งแรงผ่านการวาดรูป “ครูสังเกตว่าผมชอบเก็บรายละเอียดในงาน เลยลองเอาลายไทยมาให้วาด” และนั่นได้จุดประกายให้ปันเจอของชอบที่ถูกจริตยิ่ง
“หลังจากนั้นเราฝึกเขียนเอง ซื้อหนังสือมาแล้ววาดตามแบบ เริ่มออกไปเจอครูบาอาจารย์ ลงงานในโซเชียล ส่งงานให้ศิลปินที่เขียนลายไทยโดยตรงดู อาจารย์ก็เอ็นดูว่าเราเป็นคนรุ่นใหม่ บางทีก็นัดไปดูงานจริงและวิจารณ์ เช่น อาจารย์ธานี ชินชูศักดิ์ และอาจารย์สุวัฒน์ แสนขัติยรัตน์ ซึ่งเป็นศิลปินอันดับต้นๆของประเทศที่เขียนลายไทย อย่างอาจารย์ธานีมีเว็บไซต์ให้คนที่เขียนลายไทยส่งผลงานไปเผยแพร่ เปิดเวทีให้คนรุ่นใหม่ บางทีอาจารย์จะเขียนแก้ให้ด้วย” ปันเล่า
แรงบันดาลใจ: หนังสือเรื่องย่อละครและรามเกียรติ์
ไม่เฉพาะลายไทย ปันวาดงานทุกแบบ แหล่งแรงบันดาลใจของเขามาจากที่ที่คาดไม่ถึง เช่น “หนังสือเรื่องย่อละครเล่มละ 20 บาท หน้าปกดาราแบบศรราม-กบ สุวนันท์นี่ชอบมาก ชอบเอามาวาดหน้าดารา หรือเปิดหนังสือพิมพ์ เห็นรูปอะไรน่าวาดก็จะวาดตาม พอตอนป.3 ไปเจอหนังสือรามเกียรติ์ในบ้าน เห็นตัวละครเยอะ มีฉากมากมาย ยิ่งตรงกับจริตเราที่ชอบไปดูจิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระแก้วหรือตามวัดต่างๆ อยู่แล้ว หลังจากนั้นผมเริ่มศึกษางานโบราณมากขึ้น เช่น ศึกษาสมุดข่อย”
“ผมชอบวาดไปหมด วาดหน้าดาราจากหนังสือเรื่องย่อละครเล่มละ 20 บาท หน้าคนในข่าวหนังสือพิมพ์ ไปจนถึงรามเกียรติ์”
เราบอกปันว่าเขามีวิถีชีวิตเหมือนอาจารย์เฟื้อ หริพิทักษ์ มาสเตอร์ของวงการศิลปะเมืองไทย ผู้ที่วันๆไปนั่งซ่อมจิตรกรรมฝาผนังตามวัด ทั้งที่ความสามารถระดับที่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ครูศิลปะเคยพูดถึงศิษย์เอกผู้นี้ไว้ว่า เป็นปิกัสโซคนต่อไปยังได้ แต่แกไม่นำพากับงานพาณิชย์ ไม่วาดรูปขาย ครั้นเรียนจบจากอิตาลีก็อุทิศตนไปซ่อมแซมงานจิตรกรรมฝาผนังตามวัด โดยไม่รู้เลยว่าวันหนึ่งเด็กคนหนึ่งจะมานั่งศึกษาศิลปะไทย
“โอ้ ผมรู้จักแกครับ ผมก็เป็นแบบนั้นเลย เวลาที่บ้านจะไปเที่ยวต่างจังหวัดกัน ผมจะค้นหาไว้ก่อนว่าจังหวัดนั้นมีวัดไหนบ้างที่มีงานจิตรกรรมทรงคุณค่า แล้วขอให้พ่อแม่พาไป แต่เขาเบื่อครับ ผมไปนั่งดูลายไทย 3-4 ชั่วโมง เขาต้องไปนั่งรอ” ปันเล่าวิธีการที่เขาเติบโตมา
ศึกษาอยู่ชั้นปีที่ 5 คณะจิตรรกรรม ประติมากรรมและภาพพิมพ์ ภาควิชาศิลปะไทยที่มหาวิทยาลัยศิลปากร ปันกล่าวว่า นี่คือการเรียนอย่างเป็นระบบครั้งแรก “จากที่เราได้แต่ไปเจอครูเก่งๆ เอางานให้เขาดูแล้วก็กลับ แต่นี่เราได้เรียนเป็นวิชาคัดลอกลายไทยแบบจริงจัง เป็นพื้นฐานที่ต้องเรียน ครูจะพาไปวัด ไปนั่งแกะลาย ซึ่งเป็นสิ่งที่เราทำอยู่แล้ว มีเพื่อนร่วมเอกประมาณ 30 คน ที่นี่เปิดกว้าง จะทำลายไทยประยุกต์หรืองานประเพณีก็ได้ ไม่ใช่แนวอนุรักษ์เท่านั้น”
“เราสนใจเรื่องศิลปะและสังคม เพราะโตมากับความบัดซบที่แก้ไม่หาย – คือทุนนิยมในบรรยากาศอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นสเปกตรัมที่ประหลาดมาก และไม่เอื้อประโยชน์ต่อคนตัวเล็กๆเลย”
กนกป๊อปในทุนนิยมผสมอนุรักษ์นิยม
ตั้งแต่วาดลายไทยตั้งแต่ 6 ขวบจนถึง 23 เอกลักษณ์ในงานของเราคืออะไร เราถาม ปันตอบเร็วว่า “อัตลักษณ์ของงานผมคือการมองประเด็นทางสังคมด้วยอารมณ์ขัน ผมทำแบบนี้มาตั้งแต่เด็ก เวลามีข่าวอะไรก็จะหยิบมาตีความและวาดออกมาในแง่มุมของตัวเองที่มีความจิกกัด เสียดสี เอาป๊อปคัลเจอร์มาเล่น เพราะเราก็โตมากับสิ่งนี้
“ผมสนใจเรื่องสังคม เศรษฐกิจ การเมือง เพราะเราโตมากับหายนะที่อยู่มาตั้งแต่รุ่นปู่ย่าตายาย รุ่นพ่อแม่ เป็นความบัดซบที่แก้ไม่หาย มันคือการที่เมืองไทยมีทุนนิยมในบรรยากาศอนุรักษ์นิยม ซึ่งเป็นสเปกตรัมที่ประหลาดมาก และมันไม่เอื้อประโยชน์ต่อคนตัวเล็กๆเลย มีแต่สูบกิน
“ผมโตมากับสังคมต่างจังหวัดในระยอง บ้านผมขายสินค้าเกษตร ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง อาหารสัตว์ เราได้เห็นคนรากหญ้าจนถึงนายทุนเจ้าของโรงแรมที่เขาต่างก็เป็นลูกค้าร้านเรา มียายคนหนึ่งที่แกมาซื้อของบ้านผมตั้งแต่ผมยังอยู่ในท้องแม่ ผ่านไป 20 กว่าปี แกยังจนเหมือนเดิม ขณะที่คนรวยยิ่งรวยกว่าเดิม อะไรทำให้เขายังเป็นเกษตรกรที่โดนพ่อค้าคนกลางเอาเปรียบอยู่นั่น แต่เวลาซื้อของนี่ไม่เคยต่อราคา แต่คุณน้าที่ร่ำรวยต่อราคาเก่งมาก คุณยายปลูกกล้วย เวลากล้วยออกลูกแกก็เอากล้วยมาให้บ้านผม คนเรามักจะให้สิ่งที่เรามีมาก แต่ทำไมคนที่รวยกว่าเราชอบต่อราคา”
ปันทิ้งท้ายว่า “แท้จริงแล้วเขาเป็นคนเห็นแก่ตัวตั้งแต่เกิดเลยหรือเปล่า ก็ไม่หรอก เพราะระบบทุนนิยมที่หล่อหลอมเขาให้เป็นแบบนี้ เราจะไม่ชี้โทษคน เราจะชี้ไปที่ระบบ ทำไมผมต้องดิ้นรนเอางานแสดง ดิ้นรนสัมภาษณ์กับสื่อ เพราะผมก็ต้องเอาตัวรอดในระบบทุนนิยมนี้ให้ได้เหมือนกัน”
ชมผลงานที่มีรากฐานจากเส้นสายลายไทยกับความช่างตั้งคำถามประเด็นสังคม ซึ่งสร้างให้ศิลปะของ สิรวิชญ์ จตุรภัทรานนท์ ไม่เพียงแต่มองแล้วแตกต่าง แต่มีอะไรให้อ่านข้างหลังภาพเสมอ
HOLY CAPITALISM “แม็กโดนัลด์ไหว้ อีกฝั่งคือนางไหว้ เป็นตุ๊กตางานแกะไม้ที่เราจะเห็นคุณพี่ไหว้อยู่หน้าร้านไทยทั่วโลก ผมทำงานชิ้นนี้ตอนมีข่าวกฎหมายที่ดินที่เอื้อประโยชน์ให้คนต่างชาติ พูดถึงนโยบายหลายๆอย่างของรัฐที่เอื้อต่อกลุ่มทุนต่างชาติมากกว่าประโยชน์ของคนในชาติ โดยอิงงานศิลปะตะวันตกที่เกี่ยวกับศาสนาคริสต์ตั้งแต่ยุคกลาง เช่น ภาพรูปเคารพพระแม่มารีจะใช้พื้นหลังสีทอง อีกฝั่งคือภาพสามัญชนหรือผู้ว่าจ้างที่กำลังทำความเคารพต่อสิ่งสูงสิ่งอีกด้าน ฉากหลังของแม็กโดนัลด์จึงเป็นสีทองสื่อถึงความเป็นเทพ ขณะที่นางไหว้ไทยเป็นงานแกะไม้ที่ดูเก่า เนื้อลอก”
CONSECRATED “เป็นงานในชุด HOLY CAPITALISM พูดถึงทุนนิยมในฐานะศาสนาของสังคมสมัยใหม่ ทุนนิยมบงการมนุษย์อย่างแยบยลเช่นเดียวกับศาสนา เป็นตัวประกอบสร้างความคิด ค่านิยม ความเชื่อ ผมใช้ฟอนต์ COCA COLA ทำเป็นป้ายใหญ่เหมือนป้ายโฆษณาเขียนเป็นคำว่า CONSECRATED ที่แปลว่าถูกทำให้ศักดิ์สิทธิ์ ปลุกเสกแล้ว หรืออุทิศตนเพื่อบางสิ่งบางอย่าง ฉากหลังสีแดงดูใกล้ๆ จะเห็นว่าเป็นผ้ายันต์นางกวักที่ติดเยอะๆ จนเป็นระนาบสีแดง งานชิ้นนี้แบ่งเป็น 3 พาร์ต
“พาร์ตแรกเป็นงานจิตรกรรมทำเป็นป้ายโฆษณา สองคือ เราทำเรื่องทุนนิยมก็เลยทำโปรดักต์ขึ้นมา ทำเป็นภาพพิมพ์ยันต์นางกวักและพระสีวลีทำเป็น 199 อิดิชั่น ราคา 199 บาท ขายถูกๆเหมือนเป็นงานแมสโปรดักชัน ผมเดินขายในงาน MANGO ART FESTIVAL ขายในคณะ ตอนส่งงานก็ขายอาจารย์ การขายคือพาร์ตที่สามของงานชิ้นนี้ ผมไม่ได้จำกัดตัวเองในมีเดียมหนึ่งเดียว เราทำงานศิลปะและรับบทเป็นเซลส์ด้วย รอบ 199 ขายหมดแล้ว รอบใหม่ขึ้นราคาเป็น 399 บาท…ซื้อไหมครับ”
HOLY DESIGNER “เป็นส่วนหนึ่งของงานชุด HOLY CAPITALISM ผมนำอดีตและปัจจุบันมาปะทะกับความรู้สึก ไม่ว่าจะนำมาทับซ้อนหรือวางเคียงกัน งานชุดนี้ตั้งคำถามเรื่องความศักดิ์สิทธิ์ของความเชื่อ ศาสนา หรือค่านิยมในปัจจุบัน คนยุคนี้บูชาอะไรกัน และตั้งคำถามเรื่องมูลค่ากับคุณค่า เสื้อยันต์นี้มูลค่าเพิ่มขึ้นหรือลดลงเมื่อถูกเขียนทับด้วยไฮแบรนด์ ไฮแบรนด์มีมูลค่าเพิ่มหรือลดเมื่อมันเป็นเพนติ้ง
“ตัวเสื้อเป็นงานสกรีนจำลองเสื้อยันต์จริงสมัยสงครามของหลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก และหลวงพ่อจาด วัดบางกระเบา ผมทำรีเสิร์ชว่ามีเกจิอาจารย์คนไหนบ้างที่มีชื่อเสียงในวงการ ช่วงนั้นบ้านเมืองไม่มั่นคง มีสงคราม หลวงพ่อจึงทำเสื้อยันต์ให้ทหารใส่เพื่อคุ้มครองตน ผมเห็นจุดร่วมของสองช่วงเวลาสงครามกับช่วงเวลานี้มีผู้คนรู้สึกถึงความไม่มั่นคงในชีวิต ต้องการที่พึ่งทางใจ และยุคนี้อะไรที่จะปกป้องคุ้มครองเราได้ ก็คือแบรนด์เนมเหล่านี้ เป็นของมีมูลค่าที่เก็บไว้ก็ปกป้องความั่นคงทางเศรษฐกิจแก่ตัวเรา คนชอบมากงานชุดนี้ การโอนเงินซื้อเสื้อยันต์ก็เป็นส่วนหนึ่งของ performance art ชุดแรกทำ 20 ชิ้น 20 แบรนด์ HERMES, CHANEL, GUCCI มีทุกแบรนด์ดัง”
BARBIE & KEN “ส่วนหนึ่งของงานชุด HOLY CAPITALISM เช่นกัน บาร์บี้กับเคนบนผ้ายันต์ที่ปลุกเสกจริงของหลวงปู่เจือ เจ้าตำรับโหงวเฮ้ง วัดสว่างหนองแวง บ้านไผ่ โคราช ผมเช่าบูชามาจาก Shopee เพียงแค่โอนไป เราไม่ต้องเดินทางไปเอง ผมชอบผ้ายันต์ของเกจิรูปนี้มาก ผสมความเป็นจีน ไทย อักขระขอม ตรงกลางของเดิมเป็นหน้าโหงวเฮ้งแบบจีน ผมเห็นแล้วเกิดไอเดียเลย ถ้าโหงวเฮ้งคือมาตรฐานความงามในอุดมคติในยุคนั้น แล้วความงามยุคนี้เป็นแบบไหน ก็คือบาร์บี้ มีความเป็นอุตสาหกรรมด้วย ถูกผลิตซ้ำและกลายเป็นค่านิยมที่คนรู้สึกว่าหน้าแบบนี้คือสวย”
ACCUMULATE ACCUMULATE THIS IS MOSES AND THE PROPHET “งานชุด HOLY CAPITALISM ที่ทำเป็นรูปนางกวักชิ้นใหญ่ 2 เมตร ตัวเท็กซ์ในงานมาจากหนังสือ CAPITAL ของคาร์ล มาร์กซ์ เป็นบทกวีที่ว่า ‘ACCUMULATE ACCUMULATE THIS IS MOSES AND THE PROPHET’ เสียดสีว่าสะสมทุนเข้าไปเถอะ นี่แหละคือพระเจ้าองค์ใหม่ นี่คือศาสนาใหม่ของคุณ เหมือนเป็นคำที่ศาสดาพยากรณ์นำพระวจนะมาเผยแพร่”
THE LAST LESSON “พูดถึงสังขาร ความไม่เที่ยง หลักธรรมสุดท้ายที่พระพุทธเจ้ามอบแก่ผู้ศรัทธาคือการเน้นย้ำแก่นของศาสนาเรื่องไตรลักษณ์ ไม่มีสิ่งใดเที่ยง พระพุทธเจ้าก็ต้องตาย ผมเอางานชิ้นนี้ไปจัดแสดงที่ห้างแห่งหนึ่ง แต่ต้องปลดรูปลงก่อนถึงวันสิ้นสุดการแสดงงาน เพราะงานค่อนข้าง controversial มีบางคนมองว่าอาจไม่เหมาะสมหรือเปล่า แต่เราไม่ได้ล้อเลียนพระพุทธเจ้าเลย เรานำคำสอนของท่านมาตีความอย่างตรงไปตรงมา”
VROOM VROOM, LUST SEALS YOUR DOOM “งานรถทรงที่มีคนใส่ชุดหมาลากรถ สื่อถึงคนที่นิยม fetish เป็นกิจกรรมทางเพศที่แต่งตัวเป็นสุนัข มีผู้ควบคุมและมีผู้ถูกควบคุม”
SAILORMOON REDRAW “มีการประกวดวาดเซเลอร์มูนในสไตล์ของตัวเองจากภาพเดียวกัน ผมวาดเซเลอร์มูนการ์ตูนตาหวานเป็นศิลปะไทยที่ผมชอบ งานเราแหวกไปจากคนอื่นเลย เป็นไวรัลดัง”
CINDERRELLA “ซินเดอเรลลาที่เราตีความเป็นงานจิตรกรรมไทยประเพณี แทนที่จะใส่ชุดแบบตะวันตก ซินเดอเรลลาก็ใส่ชุดไทย มีเจ้าชายสวมมงกุฎ เสนาบดี ปราสาทแบบไทย มีนางฟ้าแม่ทูนหัวตรงมุมภาพ”
THE MELANCHOLY OF YASODHARA “นำอาตอนหนึ่งของพุทธประวัติมาเขียนแนวการ์ตูนตาหวาน เป็นตอนที่นางยโสธราได้เจอกับพระพุทธเจ้าหลังจากออกผนวช นางแสดงความโศก สามีพรากจากไปแล้วหลายปี แล้ววันหนึ่งก็กลับมาเยี่ยมพ่อ มุมภาพมีภาพพระพุทธบาท นางโกรธด้วย เศร้าด้วย แต่มีการสรุปท้ายที่เป็นแถวภิกษุณี เมื่อท้ายที่สุดนางก็เลื่อมใสในพระธรรม”
HAPPY NEW YEAR “ผมตีความศาสนาพุทธในอนาคต พระโรบอทเป็นผู้สืบทอดศาสนา ซึ่งเกิดจริงแล้วที่ญี่ปุ่น”
Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Courtesy of the Artist