Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

เมาท์เคล้าหมัดกับ ‘โสมรัศมี ไชยสุยะ’ แชมป์มวยไทยหญิงชาวกะเหรี่ยงคนแรกของไทย

Interview / Professional

ชื่อของผึ้ง – โสมรัศมี ไชยสุยะ นักมวยหญิงชาวปกาเกอะญอจากอำเภอฮอด จังหวัดเชียงใหม่ กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น เมื่อภาพเธอสวมชุดกะเหรี่ยงขึ้นรับรางวัลได้เผยแพร่ในโซเชียลมีเดีย หลังเอาชนะนักมวยสาวชาวสเปนเจ้าถิ่น ในรายการโกลเดน ลีกของ WBC MuayThai ที่เมืองบาร์เซโลนา ประเทศสเปน เมื่อปี 2565

กว่า 8 ปีบนสังเวียน โปรแกรมฝึกซ้อมอย่างหนักเฉกเช่นเดียวกับนักชกชาย วินัยการใช้ชีวิตอันเคร่งครัด หยาดเหงื่อที่บางทีมีหยดน้ำตาซ่อนอยู่ การเป็นนักมวยหญิงอาจทำให้ใครๆ มองว่าเธอแข็งแรงและแข็งแกร่ง แต่เจ้าตัวกลับบอกว่า “หนูก็อ่อนแอ ร้องไห้ และเสียใจเป็นเหมือนผู้หญิงทั่วไป”

การชกมวยเพราะอยากหาเงินไปซื้อมือถือของเด็กอายุ 12 ในวันนั้น กลายเป็นการกำหนดทางเดินชีวิตตัวเองที่พ่วงอนาคตของครอบครัวไชยสุยะเอาไว้ด้วยจนถึงทุกวันนี้ ปีนี้ผึ้งจะอายุครบ 21 ปี มือถือไม่ใช่สิ่งที่ทำให้เธอยังคงชกมวยอยู่ อะไรคือเหตุผลที่ทำให้เธอยอมแลกช่วงชีวิตวัยรุ่นเพื่อทุ่มเทให้กับการซ้อมมวยอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ใช่ความหลงใหลในเกียรติยศชื่อเสียงเงินทองจากชัยชนะที่ได้รับหรือเปล่า ถึงต้องยอมเจ็บตัวเพื่อแลกมันมา

ใครจะตอบได้ดีกว่าเธออีกล่ะ

“พ่อแม่ถามว่า เจ็บไหมลูก ถ้าอยากได้มือถือรอเงินเดือนพ่อกับแม่ออกก่อนนะ ไม่ต้องมาชกมวยเจ็บตัวแบบนี้ก็ได้”

ยกที่ 1 … หยั่งเชิงมวย

อาจด้วยความจำเป็นของชีวิตกะเหรี่ยงเช่นครอบครัวของผึ้ง ที่พ่อแม่ตัดสินใจขี่มอเตอร์ไซค์โบกมือลาวิถีชาวเขาตามแบบบรรพบุรุษที่ยึดอาชีพทำสวนทำไร่และเก็บของป่า เข้ามาทำงานในตัวเมืองเชียงใหม่ เพื่อความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของครอบครัว ผึ้งจึงได้ติดสอยห้อยตามเข้ามาเรียนในเมืองด้วย นั่นเป็นโอกาสให้เธอได้รู้จักกับ ‘มวย’

“พี่แถวบ้านเป็นนักมวยมาเล่าว่า ชกเสร็จก็ได้เงินเลยนะ หนูเลยตามไปดูเขาต่อยมวยภูธร ตอนนั้นกำลังอยากได้มือถือ แต่ไม่อยากขอเงินพ่อแม่มาซื้อ เพราะเขาทำงานหนักแล้ว เลยคิดวิธีที่จะหาเงินได้เร็ว”

ด.ญ.ผึ้งเดินดุ่ยเข้าไปหาครูอุทัย เยาวนา เจ้าของค่ายมวยเกียรติเยาวนาที่กลายเป็นครูมวยคนแรกของกำปั้นสาวผู้นี้ แล้วบอกว่า ‘หนูอยากชกมวย’ บททดสอบ

เข้าค่ายมวยคือการให้เตะโชว์ แม้ผึ้งจะเตะปุ๊บล้มปั๊บประสาเด็ก แต่สายตาครูอุทัยก็เห็นแววความเอาจริงเอาจังของเด็กคนนี้ จึงรับเธอเป็นศิษย์

ผึ้งขี่มอเตอร์ไซค์มาค่ายที่อยู่ไกลบ้านเพื่อซ้อมมวยทุกวัน โดยที่พ่อแม่เข้าใจว่ามาเล่นวอลเลย์บอลกับเพื่อนๆ ซุ่มซ้อมอยู่นานร่วมเดือนกว่าจะได้ขึ้นชกไฟต์แรก ผึ้งชนะสมที่ตั้งใจ ได้เงินรางวัล 500 บาท อารามดีใจจึงโทรบอกพ่อแม่ด้วยความตื่นเต้น โดยไม่สนแล้วว่าความลับที่เก็บงำไว้จะแตก ฟากบุพการีได้ยินแล้วก็ตกใจและเป็นห่วงจึงรีบบึ่งรถมาหาลูกสาวถึงขอบเวที

“เจ็บไหมลูก ถ้าอยากได้มือถือรอเงินเดือนพ่อกับแม่ออกก่อนนะ ไม่ต้องมาเจ็บตัวแบบนี้ก็ได้”

ด้วยความคึกคะนองของเด็ก 12 บวกกับนิสัยดื้อรั้นเป็นทุนเดิมของผึ้ง ลองว่าตั้งใจทำอะไรแล้วจะต้องทำให้ได้ เธอจึงยืนยันขอชกมวยต่อ เงิน 500 บาทที่ต้องแลกมาด้วยการวิ่งวันละ 15 กิโลเมตร และซ้อมมวยจนขาโต ไม่รวมการบาดเจ็บฟกช้ำระบมตัวหลังการชก สำหรับผึ้งนี่คือจำนวนเงินที่มากโข พอให้เธอใช้สอยได้ทั้งเดือน เพราะปกติได้ค่าขนมไปโรงเรียนวันละ 20 บาท ผึ้งขึ้นชกอยู่อีกหลายครั้ง กว่าจะเก็บเงินหยอดกระปุกจนไปสอย Vivo มือถือเครื่องแรกในชีวิตมาครอบครองได้สำเร็จ

“มวยไทยถ้าซ้อมเยอะ จะเจ็บน้อย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ซ้อมน้อย จะเจ็บเยอะ”

ยกที่ 2 …ออกอาวุธ

การอยากได้มือถือเป็นข้อตกลงที่ผึ้งใช้ต่อรองขอชกมวยต่อ แม้พ่อแม่จะไม่เห็นด้วย เพราะไม่อยากเห็นลูกสาวเจ็บตัว แต่ไม่อาจขัดความมุ่งมั่นตั้งใจของเธอได้ เมื่อได้มือถือสมใจแล้ว ผึ้งยอมรับตรงๆ “หนูเลิกชกไม่ได้จริงๆ” แล้วก็พรั่งพรูความรู้สึกที่อยู่ลึกกว่าความดีใจที่ได้มือถือว่า “นี่คือของขวัญชิ้นแรกที่หนูซื้อให้ตัวเอง ภูมิใจมาก เดินเข้าร้านแล้วจิ้มได้เลยว่าจะเอาเครื่องนี้ แต่ก่อนจะซื้ออะไร ต้องมองหน้าพ่อแม่ก่อนว่าเขาจะว่าอะไรไหม เด็กๆ เคยอยากได้ตุ๊กตา แม่บอกว่าเดี๋ยวดูเงินในกระเป๋าก่อน หนูไม่อยากเห็นภาพนั้นอีกแล้ว”

เมื่อการชกมวยนำมาซึ่งรายได้ เธอจึงตัดสินใจอยู่บนสังเวียนต่อ และไม่เคยขอเงินพ่อแม่ใช้อีกเลยนับจากนั้นมา การยึดมวยเป็นอาชีพ เราเลยอดถามถึงความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากการชกไม่ได้ เธอยิ้มอย่างเข้าใจดีเพราะคงเคยถูกถามด้วยความห่วงใยมาไม่น้อย

มวยไทยถ้าซ้อมเยอะ จะเจ็บน้อย แต่ถ้าเมื่อไหร่ที่ซ้อมน้อย จะเจ็บเยอะ” ปฏิกิริยาขมวดคิ้วไม่รู้ตัวของคนถาม ทำให้เธอยืนยันเป็นมั่นเหมาะ “เป็นอย่างนี้จริงๆ ถ้าเราตั้งใจหมั่นฝึกซ้อม พอขึ้นชกจริง จะมีลูกบัง คิดทัน หลบได้ แต่ถ้าซ้อมน้อย ขาจะไม่มีกำลัง เท่ากับไปยืนเป็นกระสอบทรายให้เขาเตะ มวยไทยจึงสำคัญที่การซ้อมด้วย”

ผึ้งขึ้นชกหารายได้เลี้ยงตัวและเก็บออมเงินมาเรื่อยๆ กระทั่งวันหนึ่งเธอฝันขยับเลื่อนขั้นไปชิงแชมป์มวยภูธร

“ถามว่าตัวเองเก่งกล้าขนาดท้าแชมป์แล้วไหม ก็ไม่ได้เก่งมาก แต่แค่คิดว่า ถ้าเราเป็นแชมป์มวยภูธร ค่าตัวก็จะมากขึ้น พอไปบอกครู แกก็ถามว่าไหวเหรอ ก็ตอบอย่างเดียวว่า ไหวๆๆๆ แล้วก็ซ้อมหนักขึ้น”

เราขอให้เธอช่วยนิยามการซ้อมหนักเพื่อให้พอเห็นภาพตาม “เอาเป็นว่า ช่วงที่มีเมนส์ยังต้องซ้อม ถ้าปวดท้องมากจริงๆ ก็ซ้อมเบาๆ แทน แต่ยังต้องซ้อม หยุดไม่ได้ มีบ้างที่ร่างกายเคยไม่ไหวเหมือนกัน จะยกแขนขาไม่ขึ้น กล้ามเนื้อล้ามากจนต้องแช่น้ำแข็ง”

ผึ้งซ้อมหนักเป็นเดือนก่อนขึ้นชกประเดิมเวทีมวยภูธร แล้วเธอก็ทำได้สำเร็จในครั้งแรกที่ท้าชิง เมื่อความมั่นใจมา ผนึกกำลังกับวินัยที่ไม่เคยอ่อนซ้อม เธอจึงสอยชัยชนะรายการต่างๆ มาครองได้ไม่น้อย แต่เป็นธรรมดาของการแข่งขันที่ย่อมมีการแพ้ชนะ ผึ้งยอมรับว่าความพ่ายแพ้เคยทำให้เธอท้อ

“หนูกดดันตัวเองว่าต้องชนะ เราเป็นหน้าเป็นตาของครู จะสั่งตัวเองแบบนี้ตลอด พอทำไม่ได้อย่างที่คิด เลยเครียด แต่ผ่านมาได้เพราะครอบครัว”

“ตอนนี้ต้องประเมินคู่ต่อสู้ตามความเป็นจริง ถ้าเบอร์ใหญ่เกินไปจะไม่เสี่ยง ถ้าเราเกิดเป็นอะไรไป หรือพิการขึ้นมา ใครจะดูแลครอบครัว”

ยกที่ 3…โดนน็อก

ผึ้งย้อนเล่าให้ฟังว่า เธอไปอยู่ในตัวเมืองเชียงใหม่กับพ่อแม่ได้ไม่นาน ก็กลับมาเรียนต่อมัธยมที่ฮอด แล้วเมื่อเธอเริ่มได้แชมป์จึงย้ายกลับไปซ้อมมวยในเมืองอีกครั้ง เธอมีรายได้จุนเจือครอบครัวแล้ว จึงขอให้ท่านย้ายกลับไปอยู่บ้านที่ฮอด แทน ทุกอย่างดูลงตัว แต่แล้วก็เกิดเหตุการณ์ไม่คาดฝัน เมื่อพ่อเสียชีวิตกะทันหัน ผึ้งเหมือนโดนหมัดน็อกล้มลงกลางเวที

“จู่ๆ นึกอยากกลับบ้าน คิดถึงที่บ้านมาก เหมือนมีอะไรมาดลใจให้กลับ ปกติครอบครัวหนูจะนอนรวมกัน ค้างบ้านได้คืนเดียว รุ่งขึ้นพ่อออกไปเก็บหญ้ามาเลี้ยงวัว ทุกทีหนูจะตามไปด้วย แต่วันนั้นแกบอกจะไปคนเดียว หนูเลยไปนอนเปลแล้วเผลอหลับไป สะดุ้งตื่นอีกทีเหมือนหายใจไม่ออก พอดีกับที่แม่เดินมาบ่นว่าทำไมป่านนี้พ่อยังไม่กลับ เลยให้หนูขี่รถไปตาม ก็หาไม่เจอ ต้องตามคนไปช่วยหาพ่อ ก็ไม่รู้ทำไมหนูขอให้ไปหาแถวแม่น้ำ มีนักประดาน้ำดำลงไปช่วยดูก็ไม่เจอ จนวันที่ 3 ซึ่งเป็นวันเกิดพ่อพอดี แกก็ลอยขึ้นมา ถึงได้รู้กันว่าพ่อจมน้ำตาย”

เสียงผึ้งหายไปชั่วขณะ เหมือนพยายามสะกดความรู้สึกสะเทือนใจที่ย้อนกลับมา

“ตอนมีคนมาบอกว่าเจอศพพ่อแล้ว แม่กับน้องสาวทำใจไม่ได้ หนูเลยต้องไปยืนยันศพ เห็นแค่ชายเสื้อ ก็จำได้ว่าเป็นเสื้อพ่อ หนูเข่าทรุดอยู่ตรงนั้น ร้องไห้หนักมาก นึกเสียใจที่ยังไม่ได้พาพ่อไปเที่ยว ไม่ได้พาไปกินอาหารดีๆ พาไปซื้อของที่เขาอยากได้ เสียใจมากที่ไม่มีโอกาสนั้นอีกแล้ว หนูผ่านความทุกข์ใหญ่หลวงครั้งนั้นมาได้เพราะกำลังใจจากคนรอบข้าง แล้วหนูก็กลับมาชกมวยต่อด้วยเป้าหมายชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป”

วันที่ไม่มีพ่อ ผึ้งกลายเป็นเสาหลักครอบครัวให้แม่กับน้องที่ยังขวัญเสียจากความสูญเสียนี้ สิ่งที่ตั้งเป้าจะทำให้สำเร็จให้ได้ คือการปลูกบ้านให้ครอบครัว “เราอยู่บ้านสังกะสีเก่าๆ โดนทั้งแดดทั้งฝน บางทีต้องไปอาศัยญาติอยู่ นอกจากชกมวยแล้ว หนูทำทุกอย่าง ทั้งทำงานพิเศษ ขายของออนไลน์ เพื่อหาเงินมาปลูกบ้าน”

อีกครั้งที่ความมุ่งมั่นตั้งใจของเธอสัมฤทธิ์ผล ผึ้งใช้เงิน 5-6 แสนที่เก็บหอมรอมริบมาปลูกบ้านหลังแรกของครอบครัว ส่งน้องเรียน ส่งเงินให้แม่ใช้ และเก็บเป็นเงินสำรองของครอบครัวไว้ใช้ยามฉุกเฉิน หวังพึ่งตัวเองให้มากที่สุด

อดีตเธออาจดูเป็นคนมุทะลุ ไม่กลัวเจ็บ และไม่กลัวคู่ต่อสู้คนไหน แต่ปัจจุบันเธอไม่คิดเช่นนั้นอีกแล้ว

“จะนึกถึงครอบครัวก่อนตลอด เพราะยังมีแม่กับน้องที่ต้องดูแล บางทีต้องไปช่วยจัดการธุระให้แม่ เพราะเขาขับรถไม่เป็น อ่านหนังสือไม่ได้ ส่วนน้องยังเด็กเพิ่งจะขึ้น ป.4 เอง เมื่อก่อนคิดว่าชกกับใครได้หมด แต่ตอนนี้ต้องประเมินคู่ต่อสู้ตามความเป็นจริง ถ้าเบอร์ใหญ่เกินไปจะไม่เสี่ยง เพราะถ้าเราเกิดเป็นอะไรไป หรือพิการขึ้นมา ใครจะดูแลครอบครัว แล้วถ้าเราเป็นแบบนั้นขึ้นมาจริงๆ คนที่ดูแลเราก็จะมีแค่แม่เท่านั้น ฉะนั้น จะทำอะไรเลยเซฟตัวเองมากขึ้น”

“น้อยคนที่จะรู้ว่าในความสำเร็จนี้ หนูใช้ความพยายามแค่ไหน เคยร้องไห้ไปกี่ครั้ง เคยกังวลจนนอนไม่หลับไปกี่คืน”

ยกที่ 4… รักษารูปมวย

“หนูเป็นผู้ใหญ่มากขึ้นหลังจากที่พ่อจากไป ไม่ได้คิดอะไรเพื่อตัวเองอีกต่อไป แต่จะนึกถึงครอบครัว ถ้าพ่อยังอยู่ หนูคงไม่คิดหรือรู้สึกขนาดนี้ ภายนอกหนูอาจดูซอฟต์ลง แต่ข้างในกลับมีแรงพลังมากขึ้น ปีที่แล้วกราฟชีวิตหนูพุ่งมาก เหมือนบุญพาวาสนาส่ง ความพยายามที่ทุ่มเทไปบังเกิดผล ทำให้มีทั้งชื่อเสียงเงินทอง จากที่ชกมวยมาหลายปี ไม่ค่อยมีใครรู้จัก แต่พอได้ไปชกที่ต่างประเทศ ได้ใส่เสื้อกะเหรี่ยงขึ้นรับรางวัล กลายเป็นภาพในโซเชียลมีเดีย คนเลยรู้จักหนูมากขึ้น”

แต่โลกความจริง เหรียญมีสองด้านเสมอ วงการหมัดมวยก็เช่นเดียวกัน

“ตอนไม่มีชื่อเสียง ไม่มีคนรู้จักเท่านี้ จะไปขอความช่วยเหลือหรือพึ่งพาใครยากมาก แต่ตอนนี้กลายเป็นมีคนเข้าหาเรามากขึ้น เพราะหวังผลประโยชน์จากเรา แต่ก็ทำให้มองออกว่าใครจริงใจกับเรา ในขณะที่มีคนเชียร์ให้กำลังใจ แต่ถ้าวันหนึ่งหนูแพ้ ต้องมีคนซ้ำเติมแน่นอน ตอนมาต่อยมวยในกรุงเทพฯ ครั้งแรก คนก็มาด่ามาเมนต์ หนูเก็บตัวไม่ออกไปไหน บางทีก็หัวร้อน โมโห อยากโทรไปด่า เพราะยึดติดมาก แต่มาคิดได้ว่า ถ้าเราทำแบบนี้แล้วจะเอาอะไรกิน เขาไม่ได้มาหาเลี้ยงเรา ไม่ได้แม้แต่รู้จักเราด้วยซ้ำ คิดได้แบบนี้ตั้งแต่นั้นเลยไม่สนใจคอมเมนต์ที่ไม่สร้างสรรค์เหล่านั้นอีกเลย

“คนไม่เคยเห็นหนูเวอร์ชั่นอ่อนแอ กังวล หรือกลัว แต่หนูก็เป็นผู้หญิงธรรมดาคนหนึ่ง เราร้องไห้ อ่อนแอ และเสียใจเป็น คนเห็นแต่ภาพหนูบนเวที เราชกมวยด้วยความแข็งแกร่ง เห็นเราเป็นเสาหลักของครอบครัวก็ชื่นชมว่าเราเก่ง แต่น้อยคนที่จะรู้ว่าในความสำเร็จนี้ หนูใช้ความพยายามแค่ไหน เคยร้องไห้ไปกี่ครั้ง เคยกังวลจนนอนไม่หลับไปกี่คืน แต่ทุกครั้งหนูผ่านมาได้ เพราะนึกถึงครอบครัว นึกถึงแม่กับน้อง”

“ที่มีวันนี้ได้เป็นเพราะความเอาแต่ใจของตัวเอง แต่โชคดีที่เป็นการเอาแต่ใจในทางที่ถูก”

ยกสุดท้าย … ประคองตัว

ปัจจุบันผึ้งครองแชมป์ RWS (Rajadamnern World Series 2022) เราถามเธอว่า คิดว่าตัวเองประสบความสำเร็จหรือยัง ผึ้งตอบทันทีว่า “แค่ก้าวหนึ่ง ยังไม่ประสบความสำเร็จหมด เป้าหมายชีวิตหนูคือเก็บเงิน และส่งน้องเลี้ยงให้จบ ตอนที่ได้แชมป์ปีที่แล้วเคยคิดว่าจะหยุดชกแล้ว แต่อยากมีเงินเก็บเป็นหลักประกันให้ครอบครัวเลยว่าจะชกต่ออีกสักปีสองปี จริงๆ มีคนชวนไปสอนมวยไทยที่กาตาร์ รายได้ดีมาก แต่หนูติดสัญญาแชมป์เลยไปไม่ได้ แต่ไม่ว่างานอะไร หนูทำได้ไม่เกี่ยง ขอให้มีรายได้ไว้ใช้และดูแลครอบครัวได้”

คุยกันมาสักพัก สัมผัสได้ไม่ยากว่า นอกจากครอบครัวแล้ว มวยอาจเรียกได้ว่าเป็นลมหายใจของเธอ “มวยให้อะไรหนูเยอะมาก ให้ทำในสิ่งที่ไม่เคยทำ ให้เพื่อนใหม่ ให้ชื่อเสียง มีงาน มีรายได้ ได้ไปต่างประเทศก็เพราะมวย แต่ที่มีวันนี้ได้เป็นเพราะความเอาแต่ใจของตัวเอง แต่โชคดีที่เป็นการเอาแต่ใจในทางที่ถูก” ผึ้งหัวเราะยอมรับนิสัยตัวเอง

“แต่ความไม่ยอมแพ้อะไรง่ายๆ ก็พาหนูมาถึงทุกวันนี้ได้ คนเราเหนื่อยได้ ท้อได้ แต่สำหรับตัวเอง หนูจะนึกถึงหน้าคนที่รอเราอยู่ข้างหลัง จากประสบการณ์อยากบอกว่า อย่าแคร์คนที่เขาไม่ชอบหรือไม่ให้เกียรติเรา แต่จงให้ความสำคัญและใส่ใจดูแลคนที่รักเราดีกว่า ให้เวลากับครอบครัว กับคนที่รักเรา ส่วนใครที่กำลังท้อแท้หมดหวัง เอาวิธีหนูไปใช้ได้ หนูจะพูดกับปัญหาเลยว่า ‘เข้ามาเลย’ ไม่ว่าจะปัญหาอะไร หนักหนาแค่ไหน เราจะผ่านไปให้ได้ แล้ววันที่เราผ่านไปได้จริงๆ เราจะเป็นผู้ใหญ่ขึ้น และมีมุมมองความคิดไปอีกขั้น”

แล้วมีอะไรที่เราต้องแลกมาเพื่อให้ได้ชกมวยไหม

อีกครั้งที่เธอตอบได้ทันทีโดยไม่ต้องใช้เวลาคิด “ช่วงชีวิตวัยรุ่น ที่คนอื่นๆ ได้ใช้ชีวิตในโรงเรียน แต่หนูแม้จะแบ่งเวลาให้การเรียน แต่เราก็ไม่ได้ไปเรียนทุกวันอย่างเพื่อน มีเรียนไม่ทันเพื่อน แต่จะพยายามหาเวลาทบทวนแล้วตามให้ทัน ทำการบ้านส่ง เรื่องเรียนแม่ให้สิทธิ์หนูตัดสินใจเองเต็มที่ หนูคิดว่าปริญญาก็สำคัญ แต่ประสบการณ์ชีวิตที่เราได้เรียนรู้มันได้เปรียบกว่าปริญญา หนูทุ่มเทให้กับมวยเยอะ เพราะเป็นอาชีพเรา คนอื่นอาจได้หยุดพักไปเที่ยวกัน แต่ไม่ว่าจะวันไหน เทศกาลอะไร หนูก็ต้องซ้อมมวย หนูมีเพื่อนน้อยมากกกกกนะ เพื่อนจริงๆ มีแค่คนสองคน เพราะใครชวนไปไหนทำอะไร เราก็ไม่ได้ไปร่วมกิจกรรมกับเขาหรือเข้าสังคมวัยรุ่นเลย”

เราขออนุญาตผึ้งเพื่อถามถึงเรื่องส่วนตั๊วส่วนตัวอย่างเรื่องของหัวใจ เธอยิ้มก่อนตอบว่า

“ก็มีคนคุยอยู่ค่ะ เป็นรุ่นพี่แต่ไม่ใช่นักมวย (หัวเราะ) หนูอยากได้คนที่มีเวลาให้เรากับครอบครัวได้ ที่สำคัญต้องเข้าใจและยอมรับสิ่งที่หนูทำได้ แม้ใจเขาจะไม่อยากให้หนูต่อยมวยแล้ว แต่ก็เข้าใจเหตุผล เราต่างคนต่างทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี ถ้ามีเวลาว่างตรงกัน เราก็นัดเจอกัน หรือโทรคุยกัน แต่เราจะไม่ลืมหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบ”

แม้ลุคจะดูห้าว หมัดเท้าเข่าศอกอาวุธครบมือ แต่ก็มีหนุ่มน้อยหนุ่มใหญ่หมายปองไม่น้อย “คนเข้าหาหนูเยอะเลย บางคนก็เป็นเสี่ยเป็นป๋า เสนอตัวมาเลี้ยงดูเราและครอบครัว แต่หนูไม่เคยรับเงินใครเลยสักบาท หนูหาเลี้ยงตัวเองมาตั้งแต่เด็ก ไม่ได้อยากให้ใครมาเลี้ยงเรา สเปกของหนูเลยไม่จำเป็นว่าต้องหล่อต้องรวย ขอแค่คนที่เข้าใจ คุยกันรู้เรื่อง และเป็นกำลังใจให้ก็พอ”

ฟังเรื่องรักๆ แล้วมันอินฟินหัวใจเลยขออีกคำถามสุดท้าย “เขาเติมความสุขให้ผึ้งยังไงบ้าง”

เจ้าตัวดูจะข่มความเขินเอาไว้ไม่น้อย ก่อนตอบไปอมยิ้มไป “เขามาเติมเต็มสิ่งที่เราขาดหายไป เมื่อก่อนไม่ได้มีความเป็นผู้หญิงขนาดนี้ เขาทำให้เรารู้จักแต่งตัวมากขึ้น พูดจาให้อ่อนหวานขึ้น เพราะเราเป็นผู้หญิงคนเดียวในค่ายมวย ใครๆ ก็เรียกเราไอ้โสม เป็นน้องชายพี่ชายของทั้งค่าย เลยติดพูดจาห้วนๆ แบบผู้ชาย จากที่เคย ฮะๆๆ ก็จะ เจ้า (ทอดเสียงละมุน) พยายามรักษาเนื้อรักษาตัว และรักษาความสะอาดให้มากขึ้น (หัวเราะ)”

Words: Rattikarn Hana
Photo: Arunothai Puttaruksa

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม