จากการร่วมงานกับสำนักงานศิลปวัฒนธรรมร่วมสมัย (สศร.) ต่อเนื่องหลายปี โครงการพัฒนาการออกแบบเครื่องแต่งกายผ้าไทยร่วมสมัยจึงไม่ใช่เพียงหน้าที่รับผิดชอบในฐานะดีไซเนอร์ ธีระ ฉันทสวัสดิ์ ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของหลากหลายชุมชนและในปีนี้ภาคใต้เป็นอีกหนึ่ง พื้นที่สร้างสรรค์ผลงานที่มอบความประทับใจให้กับเขา
“ในปีนี้ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบโครงการทางภาคใต้ ใจจริงอยากไปทำงานในจังหวัดที่ไม่เคยไป แต่จากการหาข้อมูลและตามข้อกำหนดที่ต้องหาผู้ประกอบการให้ได้ 40 รายในการเข้าร่วมกิจกรรม เมื่อได้ศึกษาอย่างจริงจัง ผู้ประกอบการในบางจังหวัดยังไม่สามารถรวมตัวกันได้อันเนื่องจากปัจจัยหลายๆ อย่าง เช่น บางกลุ่มอยู่ต่างอำเภอซึ่งใช้เวลาเดินทางนานหลายชั่วโมง บางกลุ่มยังไม่กล้าเดินทางข้ามเขตอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด ความท้าทายในการทำงานในครั้งนี้จึงเป็นเรื่องของกลุ่มผู้ประกอบการที่จะเข้าร่วมให้ครบตามจำนวน จนในที่สุดมาลงตัวที่จังหวัดปัตตานี
…ปัตตานีถือเป็นจังหวัดที่ลงพื้นที่ค่อนข้างบ่อยจนรู้สึกคุ้นเคย ทำให้การทำงานค่อนข้างราบรื่น จากการรับรู้ถึงอัตลักษณ์ของแต่ละกลุ่มที่ทำผ้าบาติกได้สวยงาม จึงเลือกขึ้นมา 4 กลุ่ม ได้แก่ เดอนารา บาติก ยาริงบาติก รายาบาติก และตันหยงบาติก จากนั้นได้ทำการออกแบบลายผ้าบาติกให้ผู้ประกอบการตามคอนเซ็ปต์ที่แตกต่างกัน ซึ่งแต่ละเจ้ามีเอกลักษณ์ในการลงสีเป็นของตัวเอง จึงออกแบบลายผ้าตามความถนัดออกมา”
เสน่ห์แสนเรียบง่ายของจังหวัดปัตตานีที่จับใจธีระ เป็นที่มาของคอลเล็กชั่นในชื่อ “Quiet Landscapes”
“จังหวัดนี้มีสิ่งที่น่าสนใจเยอะมาก ตั้งแต่สถาปัตยกรรม อาหาร ผู้คน รวมถึงธรรมชาติ ความสงบเรียบง่ายของปัตตานีได้สะท้อนออกมาเป็นคอลเล็กชั่น โดยเราออกแบบลายผ้าโดยใส่มุมมองใหม่ลงไป เลือกเอาวิวทิวทัศน์ ดอกไม้และธรรมชาติที่สวยงามของสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ มาสร้างสรรค์ เช่น หาดตะโละกาโปร์ แหลมตาชี อุทยานแห่งชาติน้ำตกทรายขาว ฯลฯ นำมาขมวดให้เป็นลวดลายบาติก
…ถ้าให้เทียบจากการทำคอลเล็กชั่นที่ได้ร่วมงานกับสศร. ครั้งนี้เราปรับเปลี่ยนโครงสร้างชุดให้ดูเรียบง่ายมากกว่าทุกครั้ง ตัดเดรปปิ้งและแพตเทิร์นที่ดูเข้าใจยากออกทั้งหมด อยากโชว์จะลายผ้าบาติกที่ผู้ประกอบการตั้งใจทำให้ออกมาเป็นไฮไลต์ มากกว่าจะโฟกัสไปที่การทำแพตเทิร์น”
…นอกเหนือจากการเป็นหนึ่งในกำลังสำคัญของโครงการฯ ได้มอบความรู้ให้กับชุมชน นักออกแบบมากความสามารถยังได้สัมผัสถึงการเป็น “ผู้ให้” และ “ผู้รับ” “เราชอบความตั้งใจของกลุ่มชาวบ้านและกลุ่มผู้ประกอบการจังหวัดปัตตานีที่ให้ความ ร่วมมือในการร่วมกิจกรรมในครั้งนี้มากๆ เราสอนเต็มที่ อยากให้ทุกคนได้อะไรกลับไปและพัฒนาต่อยอดจนนำไปตัดเย็บ ทำขายและเพิ่มยอดขายให้ดีขึ้น
…ในสภาวะเศรษฐกิจช่วงโควิดนี้ สิ่งหนึ่งที่สำคัญมากคือการให้กำลังใจซึ่งกันและกัน เราทำหน้าที่เป็นผู้ให้ ในขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการและชาวบ้านก็ให้เรากลับมาเช่นเดียวกัน เป็นความประทับใจที่ไม่ต้องเอ่ยเป็นคำพูดที่สวยหรู ทั้งหมดล้วนเกิดจากลงมือให้เห็นเป็นรูปธรรม”
Text : Prim S.
Photography : Somkiat K., Nucha J.