‘Sundae Kids’ ชื่อน่ารักๆ ของเพจเฟซบุ๊กที่มีผู้ติดตามถึง 2 ล้านบัญชี ด้วยลายเส้นเรียบง่ายสบายตาในโทนสีสดใส มาพร้อมเรื่องราวใกล้ตัวที่ชุบชูใจ ชวนให้คนอ่านหน้าเปื้อนยิ้มอยู่เสมอ เป็นผลงานวาดของ โป๊ยเซียน – ปราชญา มหาเปารยะ ที่ทำร่วมกับ กวิน เทียนวุฒิชัย เพื่อนหนุ่มร่วมคลาสสมัยเรียนคณะศิลปกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
จากจุดเริ่มต้นการเปิดเพจเพื่อเป็นพื้นที่ ‘ปล่อยของ’ เป็นพอร์ตโฟลิโอออนไลน์ เผื่อสไตล์การวาดของเธอจะสะดุดตาโดนใจลูกค้า จะได้ไม่ต้องทำงานประจำ เพราะจากการชิมลางฝึกงานสมัยเป็นนิสิต ทำให้โป๊ยเซียนรู้ตัวว่า เธอจะวาดได้ดีในสไตล์ที่ถนัด เลยไม่อยากฝืนตัวเองให้ต้องวาดสไตล์อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงยากหากทำงานประจำ
Sundae Kids จึงเป็นสนามความฝันที่โป๊ยเซียนวาดหวังไว้ว่า วันหนึ่งเพจนี้จะกลายเป็นงานประจำในแบบของตัวเองที่จะสามารถทำในสิ่งที่ชอบ แล้วเธอก็ทำได้จริงๆ แถมยังได้ต่อยอดจากการวาดภาพประกอบสื่อสิ่งพิมพ์ในช่วงแรก มาร่วมงานกับแบรนด์และร้านค้าต่างๆ ทั้งไทยและต่างประเทศ จนมีแฟนคลับจากทั่วโลกคอยติดตามผลงาน
ไปย้อนรอยฝันใหญ่ของสาวร่างเล็กคนนี้ด้วยกัน
“คนเก่งแต่ถ้าไม่มีโอกาส หรืออยู่ผิดที่ผิดทาง อาจไม่ประสบความสำเร็จก็ได้”
LIPS: อะไรทำให้ ด.ญ.โป๊ยเซียน สนใจการวาดรูป
โป๊ยเซียน: เริ่มจากพี่ๆ และญาติชอบอ่านการ์ตูนญี่ปุ่นกัน เราเลยได้อ่านด้วย พออ่านแล้วก็อยากลองวาดดูบ้าง ตอนเด็กก็ไม่รู้หรอกว่าชอบวาด แค่ทำบ่อยและอยู่ในชีวิตเรามาตลอด แต่ก็เป็นการวาดเล่นๆ จน ม.ปลาย รู้ตัวว่าไม่ถนัดวิชาสายวิทย์คณิต และคิดว่าตัวเองทำได้ดีด้านวาดรูป เลยคิดเรียนต่อด้านนี้ เรารู้ว่ามีอาชีพจิตรกรกับดีไซเนอร์ที่ทำงานเกี่ยวกับการวาดและการออกแบบ แต่ไม่ได้รู้ลึกขนาดว่าจริงๆ แล้วเขาทำงานยังไงกัน แต่คิดว่าน่าจะดีกว่าไปเรียนด้านอื่นที่ไม่ถนัด
LIPS: คณะศิลปกรรมศาสตร์ช่วยให้เห็นความสามารถหรือความถนัดของตัวเองชัดเจนขึ้นไหม
โป๊ยเซียน: ก่อนเข้าไปเรียน เราไม่ได้รู้ทั้งหมดว่าจะได้เรียนอะไรบ้าง เหมือนได้ไปลองอะไรมากกว่าที่คิดไว้ เราเลือกเรียนกราฟิก ก็จะได้เรียนทุกอย่างที่เกี่ยวกับกราฟิกดีไซน์แขนงย่อยๆ เลย ทั้งการออกแบบโลโก้ การวางเลย์เอาต์ การจัดหนังสือ งานโฆษณา อิลลัสเตรชันและอนิเมชัน เรียนครอบคลุมมากๆ ทำให้ได้ลองหลายๆ อย่าง ได้รู้ว่าสิ่งไหนเราทำแล้วเวิร์ก หรือทำแล้วไม่ค่อยเข้ากับเรา สำหรับตัวเอง วิชาที่แล้วคิดว่าเข้ากับเราคือ โฆษณาและอิลลัสเตรชัน”
LIPS: สองทักษะที่ถนัดนี้เลยกลายมาเป็นคาแรกเตอร์ของ Sundae Kids ด้วย
โป๊ยเซียน: ว่าแบบนั้นก็ได้ (ยิ้ม) ตอนที่เริ่มทำเพจ เราทำคอมิกส์สั้น 3 ช่อง ที่ต้องเล่าเรื่องราวให้คนเข้าใจภาพนั้นได้ในเวลาไม่กี่วินาที เราต้องคิดเรื่องราว คิดมู้ดของเรื่อง แล้วสื่อสารออกมาให้ได้ ซึ่งวิธีคิดคล้ายกับการทำโฆษณามาก กวินเลยแนะนำให้นำโฆษณาและอิลลัสเตรชันมารวมกัน ทำให้คอมิกส์ของเราค่อนข้างตอบโจทย์การใช้โซเชียลมีเดียโชว์ผลงาน ที่ดึงดูดความสนใจคนดูให้เข้าใจสิ่งที่เรานำเสนอได้ในเวลาอันสั้น
“ความยากลำบากของการเป็นผู้บุกเบิกที่ชัดที่สุดคือ คนยังไม่ให้ความสำคัญกับภาพประกอบสักเท่าไร”
LIPS: เมื่อ 9 ปีก่อน ช่วงที่เปิดเพจ Sundae Kids บรรยากาศแวดวงนักวาดภาพประกอบในบ้านเราเป็นอย่างไร
โป๊ยเซียน: ตอนนั้นโซเชียลมีเดียกำลังจะเริ่มมา แต่กลุ่มคนทำงานภาพประกอบหรืองานดีไซน์ในสายเดียวกันก็ยังค่อนข้างเป็นกลุ่มเล็กๆ อย่างเมื่อสัก 5 ปีที่แล้ว ถ้าไปตามงานดีไซน์หรืองานอาร์ตต่างๆ ก็จะเจอกลุ่มคนเดิมๆ เหมือนเมื่อก่อน แต่ช่วงหลังมานี้มีแพลตฟอร์มใหม่ๆ เช่น NFT มีมาร์เก็ตสำหรับอาร์ทิสต์ มีนิทรรศการ งานศิลปะมีสเปซมากขึ้น ทำให้ได้เห็นคนทำงานภาพประกอบหน้าใหม่ๆ มากขึ้น
LIPS: แล้วการเปิดเพจในสถานการณ์นั้นมีข้อดีข้อด้อยยังไงบ้าง
โป๊ยเซียน: ข้อดีคือเรามาเร็ว เริ่มเร็ว จึงได้โอกาสเร็วกว่าคนอื่น แต่คนที่เริ่มทีหลังอาจจะทำได้ง่ายขึ้น เพราะมีแพลตฟอร์มมากขึ้น แต่จำนวนเพื่อนร่วมอาชีพก็เยอะขึ้นด้วยเช่นกัน ส่วนความยากลำบากของการเป็นผู้บุกเบิกที่ชัดที่สุดคือ คนยังไม่ให้ความสำคัญกับภาพประกอบสักเท่าไร การคอลแล็บกับแบรนด์ค่อนข้างน้อย ไม่เหมือนยุคนี้ จะเห็นงานภาพประกอบ ตามสื่อสิ่งพิมพ์ เป็นภาพประกอบบทความ ภาพประกอบหนังสือ สิ่งเหล่านี้สะท้อนผลชัดเจน ทำให้ปีแรกที่เปิดเพจ เราไม่มีงานเลยยยย (ย้ำเสียง) เพราะคนยังไม่ให้ความสำคัญกับภาพประกอบขนาดนั้น และแบรนด์เองก็ยังมองไม่ออกว่า ภาพประกอบจะไปช่วยยกระดับสินค้าได้ยังไง
LIPS: มีแผนเตรียมรับมือกับสถานการณ์นี้อย่างไร
โป๊ยเซียน: ถึงจะไม่มีงานมาเป็นปี ไม่มีรายได้เข้ามาเลย แต่เราไม่มีเดดไลน์ว่าจะสู้ถึงเมื่อไร เมื่อตัดสินใจเลือกทางนี้แล้ว รู้แค่ว่าจะทำให้ถึงที่สุด เป็นการทำด้วยความเชื่อล้วนๆ (หัวเราะ) ในหัวไม่มีคำว่า ‘ไม่สำเร็จ’ เมื่อไรไม่ไหวค่อยว่ากัน ถ้าถึงวันนั้นเราจะรู้ตัวเอง เราแค่ตั้งเป้าหมายที่จะไปถึงเอาไว้ แต่ไม่ได้ตั้งจุดที่จะเฟลไว้
LIPS: สร้างขวัญกำลังใจให้ตัวเองแล้ว ในทางปฏิบัติล่ะ ทำอะไรบ้างในขวบปีแรกนั้น
โป๊ยเซียน: งานช่วงแรกที่เราทำลงเพจจะเป็นคอมิกส์กับภาพประกอบ คิดคอนเซปต์แล้ววาดขึ้นมาเลย เป็นช่วงที่กึ่งๆ ค้นหาตัวเองไปด้วย ได้ทดลองลายเส้น ทดลองเทคนิคต่างๆ ที่จะใช้กับงานของตัวเอง แต่หลักๆ ลายเส้นเราค่อนข้างเรียบง่าย ดูแล้วเข้าใจง่าย มาพร้อมเนื้อเรื่องที่เข้าถึงง่าย ส่วนตัวมองว่า คนที่ทำภาพประกอบมีหลายสกิล เลยพยายามหาจุดเด่นของตัวเอง เลยเพิ่มการเล่าเรื่องเข้ามาในภาพด้วย บางเรื่องเป็นโมเมนต์ที่เราชอบหรือเจอมา แล้วมาตีความผ่านความเป็นเราว่าถ้าเป็นเราจะเล่าแบบนี้ เป็นมุมมองของเรื่องนั้นที่ผ่านสายตาเราออกมาเป็นภาพวาด
“เราแค่ตั้งเป้าหมายที่จะไปถึงเอาไว้ แต่ไม่ได้ตั้งจุดที่จะเฟลไว้”
LIPS: ที่สุดงานชิ้นแรกก็มาถึง เล่าถึงงานประเดิมชิ้นนั้นให้ฟังหน่อย
โป๊ยเซียน: ช่วงนั้นกวินทำงานประจำที่กราฟิกเฮาส์แห่งหนึ่ง แล้วบริษัทอยากได้ภาพประกอบ กวินเลยส่งงานให้ (หัวเราะ) หลังจากนั้นงานส่วนใหญ่ก็ยังเป็นงานภาพประกอบบทความ ประกอบหนังสือ พอเข้าปีที่สองของเพจก็เริ่มมีงานหลากหลายมากขึ้น อาจเพราะช่วงนั้นเราทำนิทรรศการ ทำให้คนเห็นผลงานเรามากขึ้น มีนิตยสารมาสัมภาษณ์ เป็นการช่วยโปรโมตงานไปในตัว และยุคนั้นงานนิทรรศการยังไม่เยอะอย่างทุกวันนี้ งานที่เราจัดเลยเป็นที่สนใจ และทำให้เรามีงานเข้ามามากขึ้น
LIPS: มีงานชิ้นไหนที่สร้างชื่อหรือชอบมากเป็นพิเศษไหม
โป๊ยเซียน: ถ้าชิ้นสร้างชื่ออาจจะไม่ถึงขนาดนั้น เรากับกวินตกลงกันว่า ในการรับงานลูกค้าจะพยายามทำอะไรใหม่ๆ ในทุกชิ้นงาน แต่ก็ขึ้นอยู่กับลูกค้าด้วยว่าจะเอาหรือไม่เอา แต่เราจะพยายามขายไอเดียก่อน ซึ่งส่วนใหญ่โชคดีที่ลูกค้าไฟเขียว ทำให้เราแฮปปี้มาก ยกตัวอย่าง แบรนด์ไอศกรีม Baskins Robbins คืองานชิ้นแรกๆ ที่ได้มา จำได้ว่าตื่นเต้นมาก
ลูกค้าอยากให้เราออกแบบซองใส่บัตรสมาชิก ให้โจทย์มาว่า อยากให้คนที่มีบัตรได้ไปแล้วนำไปถ่ายรูปด้วย ไม่ใช่ได้ไปแล้วก็โยนทิ้ง เราช่วยกันคิดและนำไอเดียไปเสนอว่า เราจะออกแบบซองที่สามารถพับประกอบขึ้นมาเป็นบ้าน ซึ่งจริงๆ ก็คือร้าน Baskins Robbins สมัยวินเทจ ซึ่งพับแล้วกลายเป็นของแต่งบ้านได้ ลูกค้าชอบและซื้อไอเดียนี้ นี่ก็เป็นงานที่เราชอบอยู่
LIPS: การทำอะไรใหม่ๆ ในแต่ละชิ้นงานที่พูดถึงจะออกมาในรูปแบบไหน เพราะเรายังต้องคงลายเส้นของเราเอาไว้เพื่อเป็นลายเซ็นของตัวเอง
โป๊ยเซียน: ลายเส้นหรือภาพประกอบยังมีความเป็นเรา แต่ความแตกต่างในที่นี้หมายถึงการพรีเซนต์งานแต่ละชิ้น อย่างที่ยกตัวอย่างของ Baskins Robbins เราจะทำเป็นซองเฉยๆ แล้วใช้ภาพวาดเอาก็ได้ เพราะแค่ภาพประกอบ คนก็รู้ว่าเป็นงานเรา แต่เราหาวิธีพรีเซนต์ให้แตกต่าง ให้มีอะไรมากขึ้น เพื่อตอบโจทย์คอนเซปต์ที่ลูกค้าต้องการด้วย เราคิดว่าลูกค้าคงไม่เคยได้ซองใส่บัตรที่พับออกมาเป็นบ้านแบบนี้
ยกตัวอย่างอีกงานเป็นของพี่ปอย Portrait (ตะวัน ชวลิตธำรง นักร้อง นักแต่งเพลง และโปรดิวเซอร์) เขาออกเพลงใหม่ 1 เพลง แล้วมีการนำเพลงเก่ามาให้ศิลปินยุคใหม่ร้อง แล้วมารวมกันทำเป็นซีดี เขาติดต่อมาให้เราทำกล่องซีดี โดยให้เราลองตีความแต่ละเพลงเป็นภาพ เพื่อให้วาดเป็นภาพประกอบในกล่องบ็อกซ์เซต
ความที่เรากับกวินชอบเล่าเรื่อง จากที่พี่เขาบอกให้ตีเพลงเป็นรูป เราเลยตีเพลงเป็นเรื่อง ตีความใหม่ทั้ง 5 เพลง ได้มา 5 เรื่อง ซึ่งอาจจะไม่ได้ตรงกับเนื้อเพลงเป๊ะๆ แต่เราเก็บอารมณ์ความรู้สึกจากเพลงมาตีความ นอกจากตีเพลงเป็นเรื่องแล้ว เรายังคิดว่าเมื่อออกมาเป็นรูปเล่ม การเปิดของแต่ละเรื่องก็น่าจะต่างกันด้วย ทำให้บางอันเปิดขึ้น บางอันเปิดข้าง บางอันเปิดหมุน จะได้ตอบโจทย์เนื้อเรื่องไปด้วย เราใช้การพรีเซนต์ในทุกๆ มิติให้น่าสนใจมากขึ้น
“ถ้าไอเดียและคอนเซปต์ดีแล้ว ทุกอย่างจะง่าย แต่ถ้าไม่ลงตัว ก็พังตั้งแต่ไอเดีย งานนั้นก็จะล่ม”
LIPS: ในการทำงานมีช่วงหมดมุกหรือไอเดียตันบ้างไหม แล้วแก้ปัญหายังไง
โป๊ยเซียน: มีบ้าง แต่เมื่อเป็นงาน ก็ต้องเค้นออกมาให้ได้ เพราะในแต่ละงานจะใช้เวลากับการหาไอเดียมากที่สุด เมื่อสรุปไอเดียแล้ว กระบวนการทำงานก็ไม่นานแล้ว ทีมเราจะให้ความสำคัญกับไอเดียและคอนเซปต์ตั้งแต่ต้นมากกว่า เพราะถ้าไอเดียและคอนเซปต์ดีแล้ว ทุกอย่างจะง่าย แต่ถ้าไม่ลงตัว ก็พังตั้งแต่ไอเดีย งานนั้นก็จะล่ม
ส่วนวิธีหาไอเดีย ถ้าเราเจออะไรที่นำมาเป็นไอเดียได้ หรือคิดอะไรออกขึ้นมา ก็จะจดเก็บเอาไว้ หรือเซฟเก็บไว้ก่อน เวลามีงาน จะเข้าไปเปิดดูว่าไอเดียที่เก็บไว้ มีอันไหนเหมาะให้หยิบมาใช้ได้บ้าง ก็ช่วยแก้ปัญหานี้ได้
LIPS: เล่าถึงการทำงานกับแบรนด์ต่างประเทศหน่อย
โป๊ยเซียน: จุดเริ่มต้นของการได้ร่วมงานกันมีหลากหลายทางเลย บางงานเขาติดต่อเรามา เพราะเรามีโซเชียลมีเดีย เรากับกวินมีมายด์เซ็ตว่า เมื่อเผยแพร่ผลงานทางออนไลน์แล้ว จะไม่มีเส้นแบ่งระหว่างประเทศ ทุกคนสามารถเห็นงานเราได้ นี่เป็นอีกเหตุผลหลักที่เราเลือกใช้ภาษาอังกฤษในงานของเรา เพราะตั้งใจอยากสื่อสารเรื่องราวและผลงานที่เราทำให้ไปถึงทุกคน เราคิดว่าภาษาอังกฤษเข้าถึงคนได้ทั่วโลก เป็นการเปิดโอกาสที่เราจะทำงานกับลูกค้าต่างชาติได้ ซึ่งก็มีติดต่อมาจริงๆ
LIPS: ความแตกต่างในการทำงานกับลูกค้าไทยและลูกค้าต่างชาติคืออะไร
โป๊ยเซียน: ลูกค้าไทยจะติดกับภาพประกอบของเรา ต้องการงานแบบที่เราทำ อยากได้ตัวการ์ตูนสไตล์เรียบง่ายอย่างที่เห็นในเพจเลย ซึ่งในการทำงาน เรามีการทดลองลายเส้นใหม่ๆ มีการทำเป็น Graphic Novel ด้วยลายเส้นที่ซับซ้อนขึ้น ดูโตขึ้น ต่างจากที่เราเคย แต่พอทำงานกับลูกค้าญี่ปุ่น เขาค่อนข้างเปิดกว้างให้เราได้ลองใช้ลายเส้นหรือเทคนิคที่เราอยากใช้ได้เลย ให้อิสระและเปิดกว้างให้เราทำงานได้เต็มที่
“เราตั้งใจทำให้ดีที่สุดทุกครั้ง ด้วยความเชื่อว่าลูกค้าหรือคนที่เห็นงานของเราจะสัมผัสได้ถึงความตั้งใจนั้น”
LIPS: จัดสมดุลการทำงานยังไง ให้มีความสุขในการทำงานและตอบโจทย์ลูกค้าไปด้วย
โป๊ยเซียน: ปกติเวลาทำงานกับลูกค้า เราจะใส่ความเป็นตัวเองเข้าไปค่อนข้างเยอะ ทำให้ไม่รู้สึกอึดอัดที่จะต้องทำงานตามโจทย์ เพราะเราจะบอกเงื่อนไขกับลูกค้าก่อนทุกครั้งว่า เรากับกวินจะมีข้อจำกัดเยอะ เพื่อไม่ให้งานที่ออกมาแล้วเราไม่ชอบ ซึ่งเราจะไม่แฮปปี้เลยถ้าต้องทำงานแบบนั้น เลยจะขอคุยกับลูกค้าก่อน เพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่าย ถ้าลูกค้าโอเค เราจะออกไอเดียได้เต็มที่ไปเสนอลูกค้า แล้วแสดงฝีมือให้เต็มที่ที่สุดในทุกชิ้นงานที่ได้ทำ
LIPS: คิดว่า Sundae Kids ประสบความสำเร็จหรือยัง
โป๊ยเซียน: ถ้าดูจากความตั้งใจแรกที่อยากให้ Sundae Kids เป็นงานประจำ ก็ถือว่าสำเร็จ (ยิ้ม) เพราะเราสามารถอยู่ได้ด้วยการมี Sundae Kids เป็นงานประจำ เรานึกภาพตัวเองไม่ออกเหมือนกันว่าจะทำอะไรอย่างอื่นได้นอกจากการวาดรูป การได้ทำในสิ่งที่รักและอยากทำมาตลอด ทำให้เราตั้งใจทำให้ดีที่สุดทุกครั้ง ด้วยความเชื่อว่าลูกค้าหรือคนที่เห็นงานของเราจะสัมผัสได้ถึงความตั้งใจนั้น และตอนนี้เราก็มีสเตปต่อไปที่อยากทำให้สำเร็จ คือการทำงานกับต่างชาติมากขึ้น อย่างที่บอกว่าทุกวันนี้ไม่ได้มีเส้นกั้นแต่ละประเทศแล้ว น่าจะเป็นโอกาสดีที่ได้ทดลองทำงานกับประเทศใหม่ๆ หรือลูกค้าที่แตกต่างจากที่เราเคยทำงานด้วย
LIPS: มีวิธีเปิดโอกาสเข้าสู่ตลาดใหม่ในประเทศเหล่านั้นยังไง
โป๊ยเซียน: มีทั้งที่เขาติดต่อมาเองจากการได้เห็นงานของเรา และเราเองก็หาโอกาสให้ตัวเองด้วย บางทีถ้าเราเจอลูกค้าที่อยากทำงานด้วย เจอร้านโน้นร้านนี้ที่น่าสนใจ เราก็ติดต่อไปเองเลย หรือเอเจนซีที่เราอยากทำงานด้วย ก็จะติดต่อไปเลย เราคิดว่าไม่จำเป็นต้องรอ ถ้าอยากทำอะไรก็บอกเขาไปเลยตรงๆ นอกจากนี้ก็มีออกงานอาร์ตบ้าง แต่ก่อนหน้านี้ช่วงโควิดก็เว้นช่วงไป เพิ่งกลับมาร่วมออกงานอาร์ตเมื่อต้นปีที่ผ่านมา ได้ไปญี่ปุ่น ไปเจอลูกค้า เจอแฟนๆ ที่นั่น แต่เรามีแฟนจากทั่วโลก ทั้งญี่ปุ่น อเมริกา อิตาลี สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก ฯลฯ
LIPS: สุดท้ายอยากบอกอะไรกับคนที่มี ‘ฝัน’ บ้างไหม
โป๊ยเซียน: เราอาจเป็นคนที่ได้เจอสิ่งที่ชอบเร็ว เพราะชอบวาดรูปมาตั้งแต่เด็ก หรือจะบอกว่าเราไม่มีอย่างอื่นที่เก่งก็ได้ อยู่ที่ใครจะมองมุมไหน ส่วนตัวเราคิดว่าการได้ทำสิ่งที่ชอบจะทำให้มีความสุข แต่ก่อนจะรู้ว่าชอบไหม ก็ต้องได้ทำก่อน อย่างเราแค่รู้สึกว่าการวาดรูปเป็นสิ่งที่เราทำได้ดีเลยแฮปปี้ที่จะทำต่อ ทำบ่อยเข้าเลยกลายเป็นความชอบ ซึ่งจริงๆ ไม่ต้องค้นหาขนาดนั้น เพราะคิดว่าทุกคนน่าจะมีสิ่งที่ทำแล้วรู้สึกแฮปปี้ อยากทำ เราคิดว่านั่นน่าจะเพียงพอแล้วที่จะทำต่อ
การได้ทำในสิ่งที่ชอบต่อไปไม่ใช่เรื่องผิด อาจจะให้เป็นงานอดิเรก ไม่ต้องตั้งว่าต้องเป็นอาชีพเท่านั้น ไม่มีใครรู้หรอกว่ามันจะสำเร็จหรือเปล่า แค่คิดว่าระหว่างที่ทำ ขอให้ทำให้ดีที่สุด เต็มที่ที่สุด ค้นหาจุดเด่นที่เราแตกต่างจากคนอื่น แล้วหาวิธีพรีเซนต์ให้ถูก ก็น่าจะเป็นไปได้ เพราะคนเก่งแต่ถ้าไม่มีโอกาส หรืออยู่ผิดที่ผิดทาง อาจไม่ประสบความสำเร็จก็ได้
Words: Rattikarn Hana
Photos: Somkiat Kangsdalwirun
Style: Anansit Karnnongyai
Watch & Jewelry: Cartier