ปัจจุบันนี้ศิลปะได้รับการยอมรับมากขึ้นในวงกว้างและกลายเป็นส่วนหนึ่งของ Pop Culture ทำให้มีนิทรรศการศิลปะจัดขึ้นอย่างมากมายหลากหลาย ส่วนใหญ่ต่างก็กระจุกตัวกันอยู่ในกรุงเทพฯ อาจจะไปโผล่ในหัวเมืองใหญ่อย่างเชียงใหม่บ้าง แต่เป็นเรื่องยากมากที่เราจะเห็นนิทรรศการศิลปะหรือแกลเลอรีไปเปิดในเมืองรอง แม้ว่าเมืองนั้นจะรุ่มรวยทางศิลปะขนาดไหนก็ตาม
นิทรรศการ SUPHAN’s Echoes และ 1984+1 gallery คือหลักฐานของความรุ่มรวยทางศิลปะของจังหวัดสุพรรณบุรี แกลเลอรีในพื้นที่จัดแสดงกว่า 4,000 ตารางเมตร จากโกดังเก่าของโรงสีข้าวบูรณะกิจของ ปรีชา รักซ้อน ศิลปินร่วมสมัย ผู้ผสมผสนประสบการณ์วัยเด็กในโรงเรียนคริสต์กับภูมิทัศน์ในหมู่บ้านกุฎีทอง อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี บ้านเกิดและสถานที่ตั้งแกลเลอรีแห่งนี้ ออกมาเป็นผลงานในชุด I AM HERE จัดแสดงในช่วงต้นปีที่ผ่านมา
SUPHAN’s Echoes คือนิทรรศการครั้งล่าสุดที่รวมรวมศิลปิน 16 คน จากทั้งในและนอกสุพรรณบุรี มาจัดแสดงร่วมกัน โดยปรีชาทำหน้าที่ curator ซ้อนทับไปกับบางส่วนของ I AM HERE บนผนังของ 1984+1 gallery งานแต่ละชิ้นในชุด SUPHAN’s Echoes สะท้อนเรื่องราวมุมมองที่ศิลปินแต่ละคนมีต่อจังหวัดสุพรรณบุรีในหลายมิติ ทั้งประวัติศาสตร์ วัฒนธรรม ความเชื่อ เศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม ผ่านรูปแบบงานหลากหลาย ตั้งแต่จิตรกรรม ประติมากรรม การจัดวาง มัลติมีเดีย ไปจนถึงศิลปะการแสดง
ศิลปินทั้ง 16 คนต่างมีมุมมองและวิธีการทำงานที่แตกต่างกันไปซึ่งสะท้อนออกมาในงาน งานบางชิ้นเน้นไปที่เรื่องราวความทรงจำและประวัตศาสตร์ส่วนตัวของศิลปินซึ่งเป็นคนในพื้นที่ พลิกความคุ้นชินที่ถูกผลิตซ้ำว่าประวัติศาสตร์เป็นเรื่องราวของผู้ยิ่งใหญ่ให้กลับมาเป็นเรื่องราวของสามัญชน เช่น งานในชุด ให้สิงโตเล่าเรื่องสั้นๆ ของ วัชรนนท์ สินวราวัฒน์ ที่เป็นหนังสือเรื่องสั้นเล่มเล็กที่เล่าเรื่องราวของประติมากรรมปูนปั้นรูปสิงโตที่สร้างสรรค์โดยเหล่ากงหรือทวดของตัวศิลปิน ประกอบกับภาพวาดสีไม้เล็กๆสองภาพจัดวางให้ตัดขัดแย้งกับแกลเลอรีที่เป็นโกดังขนาดใหญ่
หรือชุดงานของ รุจน์ ถวัลย์อรรณพ อาจารย์สอนประติมากรรมจากวิทยาลัยช่างศิลปสุพรรณบุรี ที่เป็นการจัดแสดงผลงานของลูกศิษย์หลายต่อหลายรุ่น เป็นการเล่าเรื่องราวการ ‘ปั้น’ นักศึกษาให้กลายเป็นประติมากร และสะท้อนให้เห็นฉากชีวิตของนักศึกษาในช่วงเวลาต่างๆอีกด้วย
งานหลายชิ้นโฟกัสความเป็นสังคมเกษตรกรรมของสุพรรณบุรี โดยเฉพาะการทำนาข้าว อย่างงานในชุด Suphan buffalo / Skin and muscles ของ กริช จันทรเนตร ที่ได้แรงบันดาลใจจากปัจจัยการผลิตในสังคมเกษตรกรรมอย่าง ควาย ในหมู่บ้านอนุรักษ์ควายไทย อ. ศรีประจันต์ มาเป็นบอกเล่าเรื่อวราวการเปลี่ยนแปลงทางสังคม
หรือ งาน ‘ชาวนาผู้เสียสละ กระดูกสันหลังของชาติ’ ของ ประกิต กอบกิจวัฒนา x นพพร พลวิฑูรย์ (sensei k.a) ที่เปรียบเปรยความเสียสละของชาวนาดั่งพระเยซูผู้ไถ่บาปด้วยทัณฑ์ทรมาน ในรูปแบบของหุ่นไล่กาที่ถูกตรึงกางเกน ผ่านการใช้วัสุดธรรมชาติสานขึ้นมาเป็นรูปร่าง
นอกจากนี้ยังมีงานที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสถานที่จัดงานโดยตรง ในฐานะที่เป็นโรงสีเก่าที่เป็นส่วนหนึ่งของการเดินทางของผลผลิตทางการเกษตรอย่างข้าว เช่น งาน Instrumental ของ พชร ปิยะทรงสุทธิ์ ที่เป็นการแสดงเสียงจากเครื่องดนตรี 3 ชิ้น ที่ประกอบจากชิ้นส่วนเครื่องจักรเก่าในโรงสีข้าว หรือ Contemporary Dance ในชื่อ ‘โรงสี’ ของ ชานนท์ ทัสสะ ที่บอกเล่าเรื่องราวของโรงสีบูรณะกิจสุพรรณบุรีจากจุดเริ่มต้นสู่ปัจจุบัน ด้วยนาฏศิลป์เข้าผสมผสาน
จากที่กล่าวมาจะเห็นว่า งานศิลปะใน SUPHAN’s Echoes มีความเกี่ยวโยงอย่างมากกับพื้นที่จัดแสดง ทั้งในภาพใหญ่อย่างสังคมเกษตรกรรม จังหวัดสุพรรณบุรี และภาพรายละเอียดอย่างตัวโรงสีบูรณะกิจ ซึ่งเป็นลักษณะสำคัญของ Site-specific art ศิลปะเฉพาะที่ ที่สร้างขึ้นบนตำแหน่งที่เฉพาะเจาะจง และด้วยคุณสมบัติของ Site-specific art นี้เองที่น่าจะช่วยเป็นตัวชูโรงให้กับแกลเลอรีนอกพื้นที่กรุงเทพฯให้กลายเป็นสถานที่พิเศษที่รวมเอาสุนทรียะทางศิลปะ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ และสถานที่ท่องเที่ยวเข้าด้วยกัน
รายชื่อศิลปินที่ร่วมแสดงงานใน SUPHAN’S Echoes
อัญชลี อนันตวัฒน์ , วัชรนนท์ สินวราวัฒน์ , รุจน์ ถวัลย์อรรณพ , วาฬร์ จิรชัยสกุล ,กริช จันทรเนตร ,วิศิษฐ พิมพิมล , นพนันท์ ทันนารี , ชานนท์ ทัสสะ ,วิสูตร สุทธิกุลเวทย์ , ชญานิษฐ์ ม่วงไทย ,พรยมล สุทธัง , ประกิต กอบกิจวัฒนา และนพพร พลวิฑูรย์ (sensei k.a) , วิทธวัช สุกใส ,ตฤณภัทร ชัยสิทธิศักดิ์ ,ของพชร ปิยะทรงสุทธิ์ และขวัญชัย สินปรุ
SUPHAN’S Echoes จัดแสดงที่ 1984+1 gallery อ.เมือง จ.สุพรรณบุรี ตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน – 6 สิงหาคม
พิกัด 1984+1 gallery จ.สุพรรณบุรี สถานที่จัดแสดง SUPHAN’S Echoes
Words: Roongtawan Kaweesilp
Photo : 1984+1 gallery