“ประมาณ 80% ครับ” นั่นคือคำตอบของคำถามที่ว่า ความเป็นไปได้ที่ก้าวไกลจะได้เป็นรัฐบาลมากน้อยแค่ไหนจากปากของ ส.ส.เท้ง – ณัฐพงษ์ เรืองปัญญาวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อลำดับที่ 13 และรองเลขาธิการ ฝ่ายพัฒนาระบบข้อมูลและดิจิทัลแห่งพรรคก้าวไกล “ถ้าพิธาเป็นนายกฯ ผมก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล”
นั่นคืออดีตไปแล้ว – อย่างที่ชาวไทยรู้กันดีว่าเกิดอะไรขึ้นกับการจัดตั้งรัฐบาล (อ่านเพิ่มเติม: แจกคู่มือเตรียมเสียใจกับรัฐบาลใหม่ ฉบับจิตแพทย์) สารภาพว่า เราไม่มั่นใจแม้แต่น้อยว่าส.ส.เท้งจะได้เป็น ‘รมต.ดิจิทัล’ ดังที่เขาและประชาชนส่วนหนึ่งมาดหมาย เหตุผลคือ เราเกิดและโตมาในประเทศนี้…
ในวันนั้นเราจึงพูดคุยกับ ส.ส.เท้ง ในเส้นทางสายเทคโนโลยี ชีวิตหลังกดปุ่มปิดแก็ดเจ็ต ไปจนถึงความหวังและความฝันของอดีต Ignorance การเมืองที่กลายมาเป็นปากเสียงให้กับประชาชนเขตบางแค 2 สมัยซ้อน
ด้วยใจหวังว่า เขาจะได้เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล…สักสมัยหนึ่ง.
LIPS: จุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณกลายเป็นส.ส. สาย Geek คืออะไร
ณัฐพงษ์: ผมสนใจเทคโนโลยีเพราะตอนเด็กๆ ชอบเล่นเกม ผมชอบป๊าว่าทำไมคอมพิวเตอร์มีภาพได้ ป๊าบอกว่าคอมพิวเตอร์คือเลขแค่ 0 กับ 1 ผมงงมาก มันคือการเขียนโค้ด ผมเลยตั้งใจเรียนวิศวะคอมพิวเตอร์”
LIPS: ABSOLUTE บริษัทของคุณ คือผู้ให้บริการคลาวด์ โซลูชันรายแรกของไทย ได้รับการรับรองจาก Software Park (Thailand) ว่าเป็น ERP on Cloud (การเช่าใช้พื้นที่วางระบบและฐานข้อมูลบนคลาวด์ จากผู้ให้บริการ (Cloud Service Provider) โดยที่องค์กรไม่ต้องติดตั้งเซิร์ฟเวอร์เอง) ในปี 2011 ตอนนี้คุณอายุ 36 เดี๋ยวนะ คุณทำคลาวด์มาตั้งแต่อายุเท่าไรนี่
ณัฐพงษ์: ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบวิศวะคอมพิวเตอร์ (จุฬาฯ) คำว่า ‘เว็บแอปพลิเคชัน’ (แอปที่ถูกเขียนขึ้นมาให้สามารถเปิดใช้ใน Web browser ได้โดยตรง ไม่ต้องโหลดแอปแบบเต็มๆ ลงเครื่อง) ยังเป็นเรื่องใหม่มาก โปรแกรมยังต้องสั่งงานบนเครื่อง พอเว็บแอปพลิเคชันเข้ามา ผมคิดว่าอยากนำไปใช้กับการทำงานของที่บ้านในเรื่องระบบโปรแกรมบัญชี ผมน่าจะเป็นคนแรกๆที่ทำโปรแกรมบัญชีขึ้นหน้าเว็บได้ในประเทศไทย เป็นโมเมนต์สำคัญครั้งหนึ่งในชีวิตเลย ยุคนั้นคลาวด์ยังเป็นเรื่องใหม่ เลยสเกลได้ยาก ตอนนี้ก็ยังใช้งานในวงกว้างได้ยากอยู่ แต่ในต่างประเทศใช้กันแพร่หลายมานานแล้ว
LIPS: พอได้ยินคำว่า ‘ในต่างประเทศใช้กันแพร่หลายมานานแล้ว’ นี่จริงไหมที่ไทยล้าหลังทางเทคโนโลยีกว่าประเทศผู้นำเทคโนโลยีอย่างญี่ปุ่นหรืออเมริกา 20 ปี
ณัฐพงษ์: เป็นเรื่องจริงอยู่ ผมคิดว่าที่ผ่านมาเราเป็นฝ่ายตาม คือจะคอยมองว่าใครทำอะไรแล้วเวิร์กแล้วพยายามไปทำตาม แต่ผมคิดว่าเราต้องข้ามสเต็ปนั้นไปได้ละ คือต้องคิดอะไรที่มันมาแน่ๆ แล้วก็ทำ จริงๆ เป็นเรื่อง mindset แม้จะรู้ว่าสิ่งนั้นดี แต่เราไม่กล้าทำก่อนคนอื่น กลัวไม่เวิร์ก แต่เราจะทำในสิ่งที่มีคนอื่นทำแล้วเวิร์กก่อน แต่บางอย่างเราควรจะคิดนำหน้าและโฟกัสกับมัน
LIPS: คำถามอะไรที่คุณได้ยินบ่อยๆ เวลาเอาเทคโนโลยีไปขาย
ณัฐพงษ์: ‘มันจะเวิร์กไหม’ ‘มันเหมือนซอฟต์แวร์ต่างประเทศหรือเปล่า’ ทุกอย่างต้องให้ไปดังที่เมืองนอกก่อนจึงจะมาประสบความสำเร็จในเมืองไทย มีปัญหาเหล่านั้นอยู่บ้าง
LIPS: แม้ในแวดวงเทคโนโลยีที่เขาว่าล้ำ
ณัฐพงษ์: (ยิ้ม) แต่ผมว่าในโลกการเมือง เราได้ทำอะไรที่ disrupt บ้างเหมือนกัน เช่น การเปิดให้ประชาชนบริจาคให้กับพรรคการเมือง นี่ก็เป็นสิ่งที่เราเอาไปคุยกับเขาได้ว่าเราเป็นคนบุกเบิก อย่างองค์กร SocDem Asia ที่ทำเรื่องประชาธิปไตยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เขาไม่ได้ชื่นชมพรรคเรานะ แต่ชื่นชมโมเดลนี้และพลังของประชาชนคนไทย
LIPS: ไทยขยับอันดับแบบก้าวกระโดดจากปี 2022 ขึ้นมาเป็นอันดับที่ 52 ของโลก และเป็นที่ 4 ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเป็นหนึ่งในประเทศที่ดีที่สุดของภูมิภาคในการตั้งต้นธุรกิจสตาร์ตอัป แต่มียูนิคอร์น 3-4 ตัว ทำไมสตาร์ตอัปในเมืองไทยทำไมไม่โต ทำไมมียูนิคอร์นแค่ไม่กี่ตัว
ณัฐพงษ์: เป็นปัญหาเรื่อง ecosystem สภาพแวดล้อมของสตาร์ตอัปในต่างประเทศที่เกิดขึ้นได้และเป็นวัฏจักรด้วย เพราะเขามีทั้งรุ่นพี่ที่เป็นยูนิคอร์น รุ่นพี่ในที่นี้ก็เช่น Google หรือ Facebook ที่เป็นแหล่งทำงาน ทำให้คนเข้าไปกรูมมิ่งและได้องค์ความรู้ไปทำบริษัทตัวเอง และบริษัทใหญ่ๆ พวกนี้ก็พร้อมจะสนับสนุนรุ่นน้องที่เกิดใหม่ และเขายังมี VC หรือนักลงทุนที่พร้อมลงเงินใน ecosystem เพราะเขามีความเชื่อมั่นว่าลงเงินไปแล้วจะเกิดประโยชน์โภคผล เกิดคนใหม่ๆ เข้าใน ecosystem สตาร์ตอัปอีก แต่ในเมืองไทยไม่เคยเกิดวัฏจักรแบบนี้ขึ้น เพราะเราขาดหรือติดล็อกไปหมดในทุกฟันเฟือง
รุ่นพี่เอง เราก็ไม่มียูนิคอร์น เรื่อง VC เราก็มีแค่ Corporate VC ไม่ได้มี VC จริงๆ และยังเรื่องของกฎกติกาภาครัฐ อย่างโปรแกรมเมอร์เวียดนามที่เก่งๆ และค่าแรงถูกเข้ามาในทำงานในเมืองไทยไม่ได้ เพราะติดกฎกติกาของวีซ่า ถ้าเราค่อยๆปลดล็อกทุกฟันเฟือง ผมคิดว่าจะทำให้เกิดวัฏจักรขาขึ้นขึ้นมาได้
LIPS: ประเทศไหนคือตัวอย่างที่ดี เอสโตเนียหรือ
ณัฐพงษ์: โอ้ เอสโตเนียคือรัฐบาลดิจิทัลไปแล้วครับ เขาล้ำมาก ตัวอย่างที่ดีและใกล้ตัวคือสิงคโปร์และเกาหลีใต้ ภาครัฐมีส่วนสำคัญที่ช่วยปลดล็อกทุกอย่างให้ง่ายขึ้น
LIPS: ถ้าเมืองไทยมีสตาร์ตอัปเยอะๆ จะดีอย่างไร
ณัฐพงษ์: นิยามของสตาร์ตอัปคือ การทำผลิตภัณฑ์ขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาที่ต้นตอและสามารถสเกลหรือเติบโตได้ ยิ่งมีสตาร์ตอัปเยอะๆ ก็จะยิ่งมีการแก้ปัญหาได้มากขึ้น เพราะสตาร์ตอัปคิดจากปัญหาในชีวิตประจำวันเราทั้งนั้น และเป็นการส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศด้วย ที่ผ่านมาเราพยายามพูดมาตลอดว่า เราพยายามดึงนักลงทุนมาที่บ้านเรา ถึงเวลาเราแข่งในสงครามค่าแรงราคากับเขาไม่ได้ เขาก็ถอนการผลิตออกไป องค์ความรู้ก็ไม่ได้อยู่กับเรา เราต้องเปลี่ยนตัวเองเป็น Maker Nation ให้ได้ ซึ่งยังมีความหวัง
LIPS: อยากให้มีสตาร์ตอัปแบบไหนเยอะๆ
ณัฐพงษ์: ณ ตอนนี้เทรนด์ที่กำลังมาคือเรื่อง Digital Health เรื่องข้อมูลผู้ป่วยแบบดิจิทัล ถ้าคิดเพียงผิวเผินจะเป็นเรื่องของข้อมูลผู้ป่วยเวลาย้ายไปรักษาอีกโรงพยาบาลหนึ่ง เราก็ไม่ต้องก็อปปี้ข้อมูลใส่ซีดี ถ้าเราทำแบบในเมืองนอกที่ทำให้ข้อมูลผู้ป่วยเชื่อมโยงกันได้เมื่อไร รัฐจะสามารถกำกับต้นทุนในการรักษาโรคหนึ่งโรคได้ดียิ่งขึ้น ทุกวันนี้เราบอกว่าหมอที่ดีต่อผู้ป่วยคือหมอที่เราไปรักษาหนึ่งครั้งแล้วหายป่วย แต่หมอที่ดีต่อโรงพยาบาลคืออะไร ผมคิดว่าหมอเองก็อาจไม่ได้ตั้งใจ แต่เราไปรักษาแล้วไม่หาย จึงต้องกลับไปรักษาอีกหลายครั้ง แปลว่าเป็นโรคหนึ่งครั้ง เรารักษาแพงขึ้น
ถ้าไม่มีการเก็บข้อมูลการรักษาที่บูรณาการกัน รัฐไม่มีทางรู้เลยว่าหมอหรือโรงพยาบาลไหนที่รักษาผู้ป่วยได้ดี หายเร็ว ต้นทุนการรักษาต่ำ ตอนนี้ในเมืองไทยไม่มีการวิเคราะห์ข้อมูลตรงนี้ แต่เป็นเทรนด์ที่มาแรงในต่างประเทศ ลองนึกภาพในฝันว่าถ้าเราทำได้ คือรัฐทำให้คนทุกคนรักษาโรคหนึ่งโรคแล้วเท่าเทียมกันหมดด้วยต้นทุนการรักษา
LIPS: จะแก้ปัญหาหมออิดโรย หมอขาดแคลนได้ไหม
ณัฐพงษ์: ช่วยได้ เพราะช่วยทุ่นแรงหมอ หมอวิเคราะห์โรคได้ตรงจุดมากขึ้น ระบบสาธารณสุขมีประสิทธิภาพมากขึ้น
LIPS: คิดว่าจะใส่เทคโนโลยีเข้าในการทำงานทุกกระทรวงได้อย่างไรบ้าง ตอบในกรณีที่ถ้าพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรี…
ณัฐพงษ์: ถ้าพิธาได้เป็นนายกรัฐมนตรี ผมก็เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัล (หัวเราะ) เทคโนโลยีควรจะเป็นเครื่องมือที่ไปฝังอยู่ในการทำงานของทุกกระทรวง ในส่วนของกระทรวงดิจิทัลต้องเริ่มที่บัตรประชาชนก่อน เปลี่ยนเป็นดิจิทัลให้ได้ พอยังเป็นบัตร physical อยู่ ทำให้การติดต่อหรือการทำงานเป็นดิจิทัลไม่ได้เลย นี่คือเรื่องง่ายๆที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง ถ้าทำให้บัตรประชาชนเป็นดิจิทัลได้ ทุกอย่างของภาครัฐก็จะเป็นดิจิทัลได้หมดเลย ทำไมเราต้องพกบัตรหลายใบ บัตรคนจน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ บัตรนี่นั่นเต็มไปหมด ทำไมเราไม่มีบัตรประชาชนใบเดียวแล้วจบ
มีคำพูดว่า ‘คนรวยใช้เงินแก้ปัญหาได้ ชนชั้นกลางใช้เส้นสาย คนจนใช้เวลา’ แต่พอเป็นเวลาที่อยู่ในโลกของสุขภาพ บางทีมันหมายถึงความเป็น-ความตาย ฉะนั้นจะทำอย่างไรให้คนทุกคนเข้ารับบริการสาธารณสุขได้รวดเร็วทั่วถึง บัตรประชาชนดิจิทัลนี่แหละคือเทคโนโลยีง่ายๆใกล้ตัวเราทุกคนที่สุด ไม่จำเป็นต้องเป็นเทคโนโลยีซับซ้อนอะไรเลย
LIPS: เมืองไทยมีความสามารถในการแข่งขันในสนามแห่งการเปลี่ยนผ่านไปสู่ดิจิทัลอย่างไรบ้าง
ณัฐพงษ์: ณ ตอนนี้มีจังหวะที่เป็นโมเมนต์สำคัญที่ไทยจะเข้าสู่อุตสาหกรรมชิปได้ ชิปมีหลากหลาย ชิปที่ผมพูดถึงคือชิปที่ใช้ในพลังงานไฟฟ้า มันไม่ต้องการชิปที่ประมวลผลเร็ว แต่อาจต้องทนความร้อนหรือรับโหนดไฟฟ้าได้เยอะ ซึ่งเทคโนโลยีตรงนี้เราเข้าถึงได้ เวนเดอร์ที่ผมเข้าไปคุยด้วยได้พาร์ทเนอร์ที่เข้ามาทำเทคโนโลยีตรงนี้แล้ว ขอแค่รัฐบาลส่งเสริม ไทยไม่จำเป็นต้องไปแข่งขันผลิตชิปที่ทันสมัยแบบที่ไต้หวันทำ แต่เรื่องพลังงานสะอาดกำลังมา เราไปทำชิปเพื่อรองรับพลังงานไฟฟ้าตรงนี้ได้
LIPS: เทรนด์ของเทคโนโลยีช่วงนี้เป็นเรื่องอะไรบ้าง
ณัฐพงษ์: เรื่องเมต้าเวิร์ส เมื่อใดที่เมต้าเวิร์สจะมีประโยชน์หรือมีคุณค่าจริงๆ ต้องทำได้ถึงแบบที่เราดูในหนังไซไฟที่มีการฝังชิปในหัวแล้วต่อสาย แล้วเราเข้าไปอยู่ในอีกเวิร์สหนึ่งได้จริงๆ แต่ในสายตาของผมมองว่าตอนนี้เมต้าเวิร์สก็คล้ายๆกับเวลาเราเกม 3D หรือเปล่า มันคือเทรนด์ช่วงหนึ่งที่มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ออกมาประกาศช่วงปลายปี แต่ตัวเทคโนโลยียังไปไม่ถึง หรือใกล้ตัวในบ้านเราก็ได้เห็นผู้ว่าฯชัชชาตินำเทคโนโลยีฟองดูเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาให้พี่น้องประชาชน
เรื่องของดิจิทัล เทคโนโนลี เอไอ ซอฟต์แวร์อะไรต่างๆ ลองมองว่ามันเป็นเครื่องมือชิ้นหนึ่งที่ช่วยงานเราได้ แล้วแต่ว่าเราจะเลือกใช้เครื่องมือในทางไหน อย่างการใช้เอไอเข้ามาปกป้องลิขสิทธิ์ผลงานของเรา เป็นต้น ฉะนั้น อย่ากลัวเครื่องไม้เครื่องมือ พยายามเอาเครื่องมือใหม่ๆเข้ามาทำประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
LIPS: ในมุมไม่มีเทคโนโลยี คุณทำอะไรบ้าง
ณัฐพงษ์: อ่านหนังสือที่เป็นกระดาษ แต่แอบซื้ออี-บุ๊กบ้างเพราะมันสะดวก จอคินเดิลไม่ทำลายสายตาด้วย แล้วก็ชอบนั่งชิลอยู่บ้าน อยู่นิ่งๆ แต่ไม่ค่อยมีเวลาหรอก การเข้ามาทำงานการเมืองทำให้บุคลิกผมพลิกขั้วไปเลย แต่ก่อนนั่งหน้าคอมพ์ตลอด ไม่ชอบความวุ่นวาย ไปปาร์ตี้ก็จะหลบอยู่ข้างๆ แต่พอเป็นนักการเมืองก็ต้องทำหน้าที่
ตอนนั้นไม่ได้คิดว่าจะชนะเลือกตั้ง ผมเข้าสู่เส้นทางการเมืองเพราะอยากช่วยพรรคอนาคตใหม่ ถ้าจำกันได้ ตอนปี 62 เป็นระบบบัตรเลือกตั้งใบเดียว 350 เขต ถ้าพรรคอนาคตใหม่ส่งผู้สมัครลงเลือกตั้งไม่ครบ เขตนั้นจะฟาวล์ไปเลย ผมเลยลงเลือกตั้งในเขตบางแค แต่ไม่คิดฝันว่าจะชนะ เราตั้งใจจะเข้ามาเติมคะแนนปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคอนาคตใหม่ให้ครบ อยากส่งคุณธนาธร อาจารย์ปิยบุตรและคุณช่อเข้าสภา เลยลงหาเสียงให้พื้นที่ และจับพลัดจับผลูชนะการเลือกตั้ง ได้เข้าสภามาเป็นส.ส.จนทุกวันนี้
ตอนลงเลือกตั้งครั้งแรก ผมชนะมา 100 กว่าคะแนนเองนะ ตอนแรกเขาบอกว่าผมแพ้ แต่ผมไปแย้งตอนเที่ยงคืน ตอนที่เขากำลังจะแปะผลบนบอร์ด เราไปบอกเขาว่าเราจดคะแนนมาได้ครึ่งเขตในเอ็กเซล เราเอาคอมพ์ไปเปิดให้เขาดูเลย ทำไมคุณบอกว่าผมแพ้ เขาก็หายไปครึ่งชั่วโมงแล้วกลับออกมาบอกว่า ‘ขอโทษค่ะ บวกหายไปหนึ่งบรรทัด’ ผมเลยชนะเลือกตั้ง
LIPS: นี่คือการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี ซึ่งเป็นโปรแกรมธรรมดามากอย่างเอ็กเซล
ณัฐพงษ์: ทำให้เรากลายมาเป็นส.ส.ได้ (หัวเราะ)
LIPS: นี่มีความผูกพันกับเขตบางแคอยู่มาก แต่ก่อนจะต้องเดินไปทางหลังห้างวันเดอร์เพื่อขึ้นรถปอ.สาย 7 ไปโรงเรียน หลังห้างมีร้านก๋วยเตี๋ยวอร่อยมาก ไม่รู้ยังอยู่หรือเปล่า
ณัฐพงษ์: (ตาโต) เหรอฮะ ตอนนี้รถไฟฟ้าเสร็จแล้ว รถติดน้อยลงแล้ว เชิญชวนให้กลับมาย่านบางแคนะครับ (หัวเราะ) แต่ก่อนผมอยู่ในบับเบิ้ลชนชั้นกลาง ไม่เคยรู้เลยว่าห่างจากเพชรเกษม เดินไป 500 เมตรมีชุมชนแออัดอยู่เยอะมาก เขตบางแคมีชุมชนแออัดอยู่เยอะ เราได้เห็นว่าคนกรุงเทพฯด้วยกันเอง แต่คุณภาพชีวิตต่างกันขนาดนี้ เราเข้าใจคนมากขึ้น ผมว่ามันเป็นเรื่อง compassion เราไปเห็นแบบนั้นแล้วเราอึ้ง เราอยู่ในจุดที่มีอำนาจรัฐบางอย่างที่ทำให้เขาดีขึ้นได้ เราก็พร้อมที่จะทำ ถ้าเราเป็นเอกชน เราก็ช่วยได้แค่ชนชั้นกลาง หรือบริจาคเป็นครั้งคราว แต่ไม่ได้แก้ที่ต้นตอ
LIPS: ก็เลยมาเป็น Policy Maker
ณัฐพงษ์: แต่ก่อนผมเป็น Ignorance ด้วย
LIPS: ฮะ? แล้วมาอยู่อนาคตใหม่
ณัฐพงษ์: ผมว่าอนาคตใหม่-ก้าวไกลเปิดโลกให้ผมเยอะมาก อาจารย์ปิยบุตรสอนอะไรเราเยอะมาก เขาไม่เคยมานั่งสอนนะ แต่เขาชอบเล่าเรื่องและทุกอย่างเขาพูด เราก็ซึมซับและคิดตามว่ามันก็จริงนะ เราที่รู้เรื่องเทคโนโลยี เรารู้ว่าเราช่วยคนได้เยอะ
LIPS: การเมืองคือเรื่องของความหวัง คิดอย่างไรกับคำนี้
ณัฐพงษ์: ถ้าเราไม่มีความหวัง เราจะเข้ามาทำการเมืองทำไม เราอยากเอาการเมืองมาเป็นกระบวนการเข้าสู่อำนาจเพื่อไปจัดสรรทรัพยากร นี่คือนิยามของการเมือง แต่เราก็ควรจัดสรรเพื่อทำให้คุณภาพชีวิตของทุกคนดีขึ้น ถ้าการเมืองไม่ดีก็คือการที่คุณแสวงหาประโยชน์เข้าตัวเอง ส่วนการเมืองที่ดีคือการเข้าสู่อำนาจเพื่อจัดสรรทรัพยากรให้กับทุกคน
LIPS: ถ้าไม่มีเงื่อนไขอะไรเลย อยากเห็นประเทศไทยแบบไหน
ณัฐพงษ์: แค่เป็นรัฐโปร่งใส ตรงไปตรงมาแค่นั้นเลย ประชาชนอยากได้อะไร ภาครัฐก็ทำสิ่งนั้นให้ ถึงตอนนั้นผมก็ไม่ต้องทำการเมืองแล้วด้วย แต่ทุกวันนี้การเมืองไม่ใช่แบบนั้น มันกลายเป็นว่าตอนหาเสียงสัญญาไว้กับประชาชนแบบหนึ่ง พอเข้าสู่อำนาจก็ไม่ได้ทำแบบนั้น คุณหาประโยชน์ให้ตัวเอง
LIPS: จริงๆเมืองไทยไม่ได้แย่มาก แต่ระบบไม่ดี
ณัฐพงษ์: อยากเน้นย้ำว่าเป็นเรื่องระบบ แน่นอนว่าเราอยากได้คนดี แต่เราถ้าได้ระบบที่ดีมันจะยั่งยืนกว่า ระบบที่ดีคือให้อำนาจประชาชนตรวจสอบได้ ผมว่ากระบวนการเมืองคือการส่งเสียง ถ้าเราบอกว่าเราได้รับความอยุติธรรม แต่เราไม่เคยส่งเสียงออกมาเพื่อให้นักการเมืองเข้ามาช่วยให้เสียงของคุณดังขึ้น มันก็ไม่ได้รับการแก้ไข จุดแรกเริ่มที่บอกว่าประเทศไทยขับเคลื่อนด้วยการบ่น คำนี้ฟังดูลบ แต่ผมว่าเป็นเรื่องที่ถูกต้อง สอดรับกับเสียงที่บ่นออกมาก็ต้องมีกระบวนการ นักการเมืองและระบบที่ดีเพื่อให้เกิดผลเป็นรูปธรรมได้
LIPS: ขีดเส้นไว้ไหมว่าจะทำการเมืองนานเท่าไร
ณัฐพงษ์: สัก 2-3 สมัยถ้าได้ทำต่อเนื่อง โปร่งใส ตรงไปตรงมา ประชาชนตรวจสอบได้ แค่นี้จบเลย ผมอาจไม่ทำการเมืองแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงมาจากทุกคน ไม่ได้มาจากพรรคก้าวไกลเท่านั้น และประชาธิปไตยไม่ใช่เรื่องการไปกาบัตรเลือกตั้ง 2 นาทีที่คูหา ถ้าแม้ผลลัพธ์ออกมาดีก็อยากให้ทุกคนออกมากดดันคนที่ใช้อำนาจทุกคน รวมทั้งพรรคก้าวไกลด้วย ช่วยกันตรวจสอบส่งเสียงดังๆ ทุกอย่างที่เราอยากให้ดีขึ้นจะเป็นจริงได้ เราต้องเชื่อในพลังเล็กๆน้อยๆในตัวทุกคนก่อน
Words: Suphakdipa Poosap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun