Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

มอง ‘ไหม’ ในมุมใหม่

ไหม มีอะไรมากกว่าที่เห็น
Art & Design / Culture

เมื่อพูดถึง ‘ไหม’ ภาพที่ปิ๊งขึ้นมาในหัวของหลายคน คงจะเป็นผ้าไหมไทยที่ทออย่างประณีตบรรจง สะท้อนอัตลักษณ์ในแบบฉบับของแต่ละท้องถิ่น แต่แท้ที่จริงแล้วราชินีแห่งเส้นใยไม่ได้มีแค่สร้างความงดงามให้ผืนผ้า หากแต่เมื่อภูมิปัญญาท้องถิ่นผสานกับวิทยาการสมัยใหม่ ยังสามารถสร้างให้ไหมเป็นตัวตั้งต้นและต่อยอดให้ผลิตภัณฑ์มากมายในหลากหลายแขนง

รังไหม ถักทอเส้นใยแห่งความงาม

แหล่งกําเนิดเส้นใยที่อยู่คู่สิ่งทอไทยมานับพันปี ไม่เพียงเป็นตัวสร้างความงามของเส้นใย แต่ยังอุดมไปด้วยเซริซิน (Sericin) หรือกาวไหม (Silk Glue Protein) โปรตีนและกรดอะมิโนที่จําเป็นต่อผิว จึงมีการคิดค้นผลิตภัณฑ์เพื่อความงามที่ผสานคุณค่าจากสารสกัดโปรตีนรังไหมสายพันธุ์ไทย ที่ให้การบํารุงผิวอย่างล้ำลึก ช่วยให้ผิวนุ่มชุ่มชื้น ยับยั้งการเกิดริ้วรอยและความหมองคล้ำ เผยผิวดูกระจ่างใสอย่างเป็นธรรมชาติ ทั้งยังอ่อนโยนและปลอดภัยต่อทุกสภาพผิว

ไหม กินได้

ไทยเรามีเศษไหมเหลือทิ้งปีละมากถึง 300 ตัน เมื่อนำมาประยุกต์ใช้กับเทคโนโลยีนิวเคลียร์เพื่อเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมหม่อนไหม แล้วนอกจากจะไม่ต้องนำเศษไหมไปเผาทิ้งให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของภาวะโลกร้อน ยังนำมาสกัดเป็นผงช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มขึ้นอีกนับพันล้านบาท ต่อยอดและแปรรูปได้หลากหลาย เรียกว่าถ้าไม่นับ ยำ ตำ คั่ว ทอด ดักแด้จากหนอนไหมตามตำรับที่มีมาแต่โบราณแล้ว ปัจจุบันยังมีการนำผงไหมเป็นส่วนผสมของอาหารหลายประเภททั้ง ไส้กรอก กุนเชียง ลูกชิ้น หมูยอ ที่เมื่อผสมผงไหมแล้วจะนุ่มเด้งเหมือนเพิ่งทำเสร็จใหม่ๆ สีสันชวนลิ้มลอง ไอศกรีมและโยเกิร์ตจากผงไหม ได้เนื้อเนียน ไม่ละลายง่าย ด้านบะหมี่ก็เหนียวนุ่ม น่ารับประทาน

ไหมกับวงการแพทย์

เนื่องดัวยโปรตีนไหมมีโมเลกุลใกล้เคียงกับเซลล์ผิวมนุษย์ เป็นโปรตีนที่มีคุณภาพสูง มีคุณสมบัติในการกระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์เนื้อเยื่อ และทนต่อการเข้าทำลายของเชื้อจุลินทรีย์ วงการแพทย์จึงมีการดึงประโยชน์ด้านนี้ของไหมมาใช้งานอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะไหมไทยสีเหลืองมีเส้นใยที่เล็กกว่า จึงมีพื้นที่ผิวมากกว่าและสามารถย่อยสลายได้ง่ายกว่า สร้างความเป็นไปได้ที่จะนำมาประยุกต์ใช้เป็นวัสดุทางการแพทย์ได้ดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นไหมเย็บแผล พลาสเตอร์สมานแผล ผิวหนังเทียม เส้นเลือดเทียม สร้างเนื้อเยื่อให้แก่ผู้ป่วยโรคเบาหวาน ไปจนถึงคอนแทคเลนส์

ไหมในการเกษตร

มีการทดลองว่าเมื่อเส้นไหมถูกย่อยลงเป็นอณูขนาดเล็กระดับไมโคร เมื่อนำไปฉีดในนาข้าว จะทำหน้าที่เป็นปุ๋ยและฮอร์โมนช่วยให้ต้นข้าวแข็งแรงขึ้น และเพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น เมื่อทดลองฉีดพ่นกับมังคุด ก็พบว่าช่วยให้มังคุดมีผิวสวยอยู่ได้นาน มีประโยชน์ต่อการนำไปขายหรือส่งออก ในหนอนไหมยังสามารถสกัดสารจากเชื้อแบคทีเรียชื่อ Bacillus thuringiensis เพื่อใช้เป็นสารกำจัดแมลง (microbial insecticide) นอกจากนี้ฮอร์โมนบางชนิดจากหนอนไหม ยังควบคุมการเจริญเติบโตของแมลง การนำเพื่อใช้กำจัดแมลงศัตรูพืชบางชนิด การใช้ประโยชน์จากหนอนไหมมากำจัดศัตรูพืช นอกจากจะเป็นผลดีต่อเกษตรกรที่ช่วยให้พวกเขาห่างไกลจากสารเคมีแล้ว ยังช่วยให้ผู้บริโภคอย่างเราให้ปลอดภัยมากขึ้นด้วย

นับจนถึงวันนี้บ้านเรายังคงมีการอนุรักษ์ สืบสานวัฒนธรรมภูมิปัญญาเกี่ยวกับหม่อนไหม ส่งเสริมการตลาด สร้างมาตรฐานและคุณภาพ อีกทั้งไม่หยุดนิ่งที่จะวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อสร้างให้ ไหมไทย ก้าวไปกับโลกอย่างยั่งยืน

รูปภาพ จาก Pixabay, Freepik
ข้อมูล จาก กรมหม่อนไหม สวทช. สถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ(องค์การมหาชน) และ สถาบันผลิตผลเกษตร

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม