“เที่ยวเมืองไทย ไม่ไปไม่รู้”
คงเป็นประโยคที่เราขอหยิบยืมมาใช้ในทริปสุดแสนพิเศษกับ “โครงการวัฒนธรรมสัญจรสำหรับคณะทูตานุทูต” ครั้งนี้ ซึ่งเอกสิทธิ์ในการเดินทางไปเยือน ณ จังหวัดอุดรธานี (พ่วงด้วยจังหวัดหนองบัวลำภู) ไม่ได้มีเพียงการที่กระทรวงวัฒนธรรมในฐานะเจ้าภาพจัดทริปให้แก่ทูตานุทูตจาก 24 ประเทศ รวมทั้งสิ้น 47 คน หากแต่ความเป็นเจ้าของแม่บทที่ต้องการผลักดันให้ “อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท” แหล่งท่องเที่ยวสำคัญทางวัฒนธรรมในภาคอีสานเหนือ เพื่อนำเสนอต่อองค์การยูเนสโก หรือ UNESCO เพื่อรับรองขึ้นทะเบียนเป็น “แหล่งมรดกโลก” ของไทยแห่งใหม่
แหล่งมรดกโลก คืออะไร
แหล่งมรดกโลก หรือ World Heritage Site เป็นพื้นที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากองค์การยูเนสโก (UNESCO) ให้เป็นสถานที่สำคัญ และเอื้อประโยชน์โดยรวมแก่มนุษยชาติ ซึ่งได้รับความคุ้มครองทางกฎหมายตามสนธิสัญญา โดยจะมีคณะกรรมการ และหลักเกณฑ์ในการคัดเลือกว่า พื้นที่นั้นมีความเหมาะสมในการพิจารณาให้เป็น “แหล่งมรดกโลก” หรือไม่
โดยแนวคิดริเริ่มการกำหนดแหล่งมรดกโลก เกิดขึ้นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่หลายประเทศได้รับผลกระทบจากสงครามเห็นพ้องต้องกันว่า สงครามได้ทำลายชีวิต ทรัพย์สิน และสถานที่สำคัญทางวัฒนธรรม และธรรมชาติไปเป็นอันมาก หากไม่มีการอนุรักษ์สิ่งเหล่านี้ไว้ ในอนาคตคนรุ่นหลังอาจไม่มีโอกาสได้เรียนรู้ หรือชื่นชมความงามที่ถูกสร้างสรรค์ไว้แต่ครั้งอดีต
แหล่งมรดกโลกในประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย สถานที่ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลก มีทั้งหมด 6 แหล่ง โดยแบ่งเป็น มรดกโลกทางวัฒนธรรม 3 แห่ง ได้แก่ เมืองประวัติศาสตร์สุโขทัย (พ.ศ.2534) นครประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา (พ.ศ. 2534) และแหล่งโบราณคดีบ้านเชียง (พ.ศ.2535)
ส่วนมรดกโลกทางธรรมชาติ 3 แห่ง ได้แก่ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่ – ห้วยขาแข้ง (พ.ศ.2534)ผืนป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ (พ.ศ.2548) และกลุ่มป่าแก่งกระจาน นับเป็น ‘มรดกโลก’ ล่าสุดแห่งที่ 6 ของไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนจากยูเนสโก เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2564 ที่ผ่านมา ถือเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติ แห่งที่ 3 ของไทย
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท
ที่แห่งนี้แหละที่เป็นไฮไลต์หลักในการเดินทางมายังจังหวัดอุดรธานีครั้งนี้ เพราะหนึ่งในแผนงานของกระทรวงวัฒนธรรมที่ต้องการผลักดันพื้นที่แห่งนี้ เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมแห่งที่ 7 ของประเทศไทย
อุทยานประวัติศาสตร์ภูพระบาท บนเขาภูพระบาท ในเขตพื้นที่เมืองพาน อำเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี เป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาภูพาน เทือกเขาหินทรายที่อยู่ทางทิศตะวันตกของจังหวัดอุดรธานี สภาพทั่วไปเป็นป่าโปร่ง อุดมไปด้วยพืชพันธุ์ธรรมชาตินานาชนิด สามารถมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี
ไกด์ท้องถิ่นเล่าให้เราฟังว่า จากการสำรวจทางโบราณคดีพบว่า บนภูพระบาทแห่งนี้มีร่องรอยกิจกรรมของมนุษย์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์อายุราว 2,500 – 3,000 ปี มีการค้นพบภาพเขียนสีตามโขดหินธรรมชาติมากกว่า 54 ที่ นอกจากนี้ยังพบการดัดแปลงเพิงหินธรรมชาติให้กลายเป็นพื้นที่ประกอบกิจกรรมตามความเชื่อ และศาสนาของผู้คนในหลากหลายวัฒนธรรม ซึ่งทิ้งร่อยรอยทางโบราณคดีเอาไว้ จนทำให้เราเห็นพัฒนาการด้านสังคมของมนุษย์ในแถบอีสานเหนือของไทยได้เป็นอย่างดี จึงไม่แปลกใจเลยว่าทำไมกรมศิลปากร และกระทรวงวัฒนธรรมจึงต้องการผลักดันในอุทยานประวัติศาสตร์แห่งนี้เป็นแหล่งมรดกโลกของไทย
รากเหง้าอีสานเหนือ
การมาเยือนจังหวัดอุดรธานี ซึ่งถือเป็นหัวเมืองสำคัญของพื้นที่อีสานตอนเหนือ อันเปี่ยมไปด้วยอารยธรรมเก่าแก่แห่งหนึ่งของโลก การขุดค้นพบร่องรอยที่อยู่อาศัย และที่ฝังศพของคนก่อนประวัติศาสตร์ยุคโลหะเมื่อราว 5,000 ปีมาแล้ว สะท้อนความเจริญก้าวหน้าทางวัฒนธรรม และเทคโนโลยีชั้นสูงมาแต่ครั้งโบราณ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นที่ซึ่งมีความหลากหลายทางวัฒนธรรมที่น่าสนใจ เพราะมีชุมชนต่าง ๆ เข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวลนี้ถูกบอกเล่าอัดแน่นผ่านนิทรรศการแต่ละห้อง ผสมผสานเทคโนโลยีดิจิทัลแบบอินเตอร์แอกทีฟ อยู่ภายใน พิพิธภัณฑ์เมืองอุดรธานี ที่เปรียบเสมือนห้องสมุดทางวัฒนธรรมประจำจังหวัดแห่งนี้
ผ้าทอมือ อัฒลักษณ์ชุมชนคนอีสาน
อีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจใน จังหวัดอุดรธานี ที่นำกลีบดอกบัวมาย้อมผ้าเป็นสีสวยงามแปลกใหม่ และไม่ผสมเคมี คือ กลุ่มทอผ้าโบราณบ้านโนนกอก หมู่บ้านท่องเที่ยวสไตล์ OTOP อันดับหนึ่งของจังหวัดอุดรธานี ก่อตั้งในปี พ.ศ. 2558 โดยคุณต้น อภิชาติ พลบัวไข ผู้ต้องการฟื้นฟูวิถีทอผ้าของชุมชน จนค้นพบวิธีการย้อมผ้าด้วยบัวแดง พัฒนาต่อยอดจนได้ลวดลายผ้าที่เป็นไม่เหมือนที่ไหน
ที่นี่มีการย้อมผ้าที่ยกระดับจนเป็นเอกลักษณ์ คือ การย้อมสีผ้าด้วยกลีบดอกบัว ซึ่งย้อมออกมาได้ถึง 3 สี เป็นสีออร์แกนิกแบบปลอดสารเคมี เราได้ลงมือมัดย้อมสีลงบนกระเป๋าผ้าร่วมกับบรรดาทูตานุทูต เป็นของที่ระลึกโดยฝีมือตัวเองติดไม้ติดมือกลับมาบ้านด้วย
ส่วนใครที่เคยคิดว่าผ้าไทยใส่แล้วเชย คงต้องเปลี่ยนความคิดกันบ้าง เมื่อได้สัมผัสกับแฟชั่นของ ศูนย์เรียนรู้และออกแบบขวัญตา จังหวัดหนองบัวลำภู ของ คุณแม่สุมามาลย์ เต๋จ๊ะ ที่นำเทคนิคผ้าทอมือมาประยุกต์เข้ากับดีไซน์สมัยใหม่ได้อย่างลงตัว กลายเป็นแฟชั่นร่วมสมัยที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว
เรายังมีโอกาสได้ลงมือทำกิจกรรม Eco Print หรือการย้อมลายผ้าด้วยเทคนิคธรรมชาติ ชมสาธิตการทอผ้า กระบวนการผลิตผ้าใยธรรมชาติ และออกแบบผ้าไทย ซึ่งสร้างความประทับใจให้ทั้งเรา ตลอดจนทูตานุทูต และคู่สมรส โดยเฉพาะฝ่ายหญิงจนเผลอชอปปิ้งผลิตภัณฑ์ท้องถิ่นกลับมาจนล้นตระกร้าสานที่ทางร้านเตรียมไว้ให้ก่อนจ่ายเงินทีเดียว
เป็นตาแซ่บแท้น้อ
การมาเยือนภาคอีสาน หากพลาดการลิ้มชิมรสอาหารอีสานไปคงเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย จนอาจกล่าวว่า “มาไม่ถึงที่” ได้เช่นกัน
เราประเดิมมื้อเช้ารองท้องทันทีที่มาเยือนจังหวัดอุดรธานี ณ มาดาม พาเท่ห์ 2515 ที่เปิดมายาวนานกว่า 17 ปี บรรกาศกาศร้านเป็นบ้านไม้สองชั้น ภายในประดับด้วยเฟอร์นิเจอร์ไม้ และเครื่องมือใช้สอยย้อนยุค อยู่ตรงซอยตำรวจของ มาดามเหมย – ชุติปภา สุรภาพวงศ์ เจ้าของร้าน ที่ซึมซับวัฒนธรรมอาหารการกินหลากหลาย จนหลอมรวมกลายเป็นตำรับความอร่อยในแบบเฉพาะของมาดามเอง
อาหารของที่นี่เป็นเมนูที่หารับประทานได้เฉพาะในท้องถิ่นแถบอีสาน เช่น สามสหาย (ขนมปังฝรั่งเศสไส้ปัตเต้ ครัวซ็องไส้ทูน่า โรตีใส่หมู หมูยอ และกุนเชียง) ให้รสสัมผัสของขนมปัง และรสชาติของไส้ที่แตกต่างกัน จานหลักอย่าง ข้าวต้มเห็ดชาจีน ในน้ำซุปใสสีเหลืองทอง ซึ่งต้มแบบข้ามวันข้ามคืน ใส่กระดูกหมู และเห็ดชาจีนที่ผัดจนหอม นำมาเสิร์ฟแบบร้อน ๆ ซดคล่องคอ หรือ เฝอเนื้อ สูตรเฉพาะด้วยเทคนิคแบบฮ่องกง ที่ผัดเครื่องให้หอมก่อนเสิร์ฟพร้อมพริกจี่ กะปิ และน้ำจิ้มถั่ว ซึ่งเป็นเอกลักษณ์การกินแบบดั้งเดิมของชาวเวียงจันทน์ ซึ่งแต่ละเมนูนั้นจะเห็นว่าเป็นการผสมผสานวัฒนธรรมการกินไว้ถึง 5 สัญชาติทั้ง ไทย จีน ลาว เวียดนาม และฝรั่งเศส จนมีรสชาติที่เป็นเอกลักษณ์ และเสน่ห์เฉพาะตัว
ซาหมวยแอนด์ซันส์ อีกหนึ่งร้านเด็ดสไตล์ไฟน์ไดนิ่งเชฟเทเบิล ที่นำเสนออาหารอีสานเพื่อสุขภาพของสองพี่น้องชาวอุดรธานี เชฟหนุ่ม-วีระวัฒน์ และ เชฟโจ้-วรวุฒิ ตริยเสนวรรธน์ ซึ่งเชื่อว่า อาหารคือยา และต้องการผลักดันวัตถุดิบท้องถิ่นสู่อาหารจานหลักในราคาที่คนในพื้นที่สามารถจับต้องได้
ซึ่งนอกจากพิถีพิถันในทุกขั้นตอนการทำแล้ว มื้ออาหารสุดพิเศษแต่ละจานของซาหมวยแอนด์ซันส์ยังมีเรื่องราวที่ผ่านการคิดมาอย่างละเอียดละออ ก่อนจะเสิร์ฟขึ้นโต๊ะให้แก่คณะทูตและพวกเราด้วยการจัดวางจานที่เน้นอัตลักษณ์ความเป็นอีสานอย่างสวยสดงดงาม
การรับประทานอาหารมื้อพิเศษเคล้าเสียงดนตรีประยุกต์แบบอีสาน จากเครื่องดีดสีตีเป่าพื้นบ้านของวง ‘หมาเก้าหาง’ ก็ยิ่งเพิ่มอรรถรส และสุนทรีย์ในการรับประทานอาหารมื้อนี้แบบที่หาที่ไหนได้ยากขึ้นไปอีก นำมาซึ่งความเพลิดเพลินจำเริญใจ จนเจริญอาหารแบบไม่รู้ตัว
การเดินทางตลอด 3 วัน 2 คืน ในครั้งนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากไม่มีกระทรวงวัฒนธรรมที่ตั้งใจจัดทริปพิเศษนี้ขึ้นมา เพื่อนำเสนอวัฒนธรรมภาคอีสานตอนเหนือให้แก่คณะทูตานุทูตด้วยความจริงใจ จนอาจเรียกได้ว่า นี่เป็นทริป ‘Soft Power’ ที่แท้จริง ด้วยความเชื่อเหลือเกินว่า ความประทับใจจากประสบการณ์จริง จนเกิดเป็นการบอกเล่าแบบปากต่อปากโดยตัวแทนประเทศจากทั่วโลก ที่ได้สัมผัสวัฒนธรรมอีสานเหนือเช่นเดียวกับเราในครั้งนี้ คงเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญที่จะช่วยผลักดันนโยบายต่าง ๆ ของไทยให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
….จนกว่าจะพบกันใหม่…
เรื่อง : วรนินทร์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา
ภาพ : ฐิติศักดิ์ เกตุนาค (เพจวิถีตากล้อง)