Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

The Factory of Inspiration

ทัวร์โรงงานแห่งแรงบันดาลใจ สตูดิโอลุคดิบเท่ในซอยประชาอุทิศ 37 ตามวิถี New Normal
Art & Design / Culture

ตั้งแต่การรวมตัวกันในกองถ่ายกลายเป็นกิจกรรมต้องห้ามสตูดิโอที่เคยต้อนรับกองถ่ายขนาดใหญ่ที่มีสมาชิกในกองร่วมหลักร้อยอย่างThe Factory of Inspiration ก็ได้แต่รอฟังข่าวดีจากภาครัฐว่าเมื่อไรการถ่ายทำต่างๆจะดำเนินการได้จนกระทั่งเมื่อรัฐบาลประกาศมาตรการผ่อนปรนให้กองถ่ายกลับมาทำงานได้อีกครั้งโดยรักษาระยะห่างจำกัดจำนวนผู้เข้าทำงานทำให้โรงงานแรงบันดาลใจแห่งนี้เตรียมพร้อมกลับมาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ภาพในจินตนาการให้เป็นจริง

     ย้อนกลับเมื่อราว 30 ปีก่อน พื้นที่ในซอยประชาอุทิศ 37 แห่งนี้เคยมีชีวิตในฐานะโกดังเก็บเฟอร์นิเจอร์ของโรงงานผลิตเฟอร์นิเจอร์เหล็ก ครั้นเมื่อกิจการโรงงานไม่จำเป็นต้องใช้โกดังนี้แล้ว ถึงถูกปล่อยร้างไว้อยู่นาน หลาย ปี จนสภาพภายในทรุดโทรมไปตามกาลเวลา จนกระทั่งได้เจเนอเรชั่นหลานอย่าง วี-วิภาวี คุณาวิชยานนท์ ที่เรียนจบด้านสถาปัตยกรรมและอินทีเรียดีไซน์ มาค่อยๆ ปรับปรุงจนกลายเป็นสตูดิโอที่มีเค้าโครงดิบเปลือย แต่มีเสน่ห์ตามธรรมชาติโดยไม่ต้องประดิษฐ์

“สาเหตุที่ตั้งชื่อที่แปลว่า “โรงงานแรงบันดาลใจ” เพราะเราอยากเป็นเหมือนผืนแคนวาสเปล่าๆ ที่เปิดพื้นที่ให้คนมาเติมจินตนาการได้เต็มที่” 

     แผ่นป้ายเก่าคร่ำยังถูกเก็บไว้ เสาต้นเดิมยังคงยืนหยัดอยู่อย่างเก่า โครงเหล็กที่เป็นเสมือนชั้นลอยที่เมื่อก่อนใช้เก็บเฟอร์นิเจอร์ ยังคงสภาพที่เคยเป็น สวิตช์ไฟปลั๊กไฟต่างๆ ยังคงทำหน้าที่เดิม เช่นเดียวกับห้องออฟฟิศ ลิฟต์ขนส่งของที่ยังใช้งานได้  เสริมส่วนที่สร้างใหม่ขึ้นมาบ้างเพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน พื้นและผนังบางส่วนที่ปิดทึบก็ทำการเจาะช่องให้แสงส่องสว่างลอดมาได้ ให้ความรู้สึกสบายปลอดโปร่ง บวกกับความสูงจากพื้นถึงเพดานในบางส่วนที่สูงถึง 12 เมตร ทำให้รู้สึกโปร่งโล่งสบาย

“ที่นี่เราจะไม่เสริมเติมแต่งอะไรมากมาย แต่จะค่อยๆรื้อทุบสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปให้เหลือแต่สิ่งที่ใช่เท่านั้น” 

     …สิ่งที่ใช่ที่วีต้องการเก็บไว้คือ ‘เวลา’ ที่ถ่ายทอดผ่านร่องรอยและคราบเก่าบนโครงสร้างและพื้นผิวต่างๆของสถานที่แห่งนี้  อย่างสีตามเสาที่เป็นสีเทาอมฟ้าก็เป็นสีเดิม เพิ่มเติมคือ ความโปร่งสบาย อากาศถ่ายเทได้ดี และแสงที่ลอดเข้ามา”

     ห้องที่จัดสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้เหมาะสมกับการใช้งาน คือ สตูดิโอสีขาวที่กั้นห้องขึ้นมาเพื่อเอื้อต่อการทำงานของกองถ่าย สิ่งหนึ่งที่เราสังเกตเห็นว่า น่าจะเป็นของเก่า คือ บานหน้าต่างเหล็กดัดลายดอกพิกุล

     “เหล็กดัดนี้ไปได้มาตอนเขารื้อตลาดสามย่านเก่าค่ะ ไปขอซื้อมาเก็บไว้แล้วมีโอกาสได้ใช้ตอนทำสตูดิโอแห่งนี้นี่แหละค่ะ” ผู้ก่อตั้งบอกถึงที่มาของวัตถุต้องสงสัย

     จุดที่สะดุดตาเราอีกจุด คือ กองกิ่งไม้แห้งที่วางสุมไว้อย่างไม่ตั้งใจตรงมุมห้อง แต่ในความไม่ตั้งใจนั้นกลับดูมีเสน่ห์จนกลายเป็นมุมถ่ายรูปอีกมุมที่ได้รับความนิยม

     ต้นพยุงทั้ง 9 ต้นที่หยั่งรากลงลึกในพื้นดินด้านล่าง แทงยอดสูงขึ้นเกือบจรดหลังคา เกิดจากไอเดียของผู้ออกแบบที่อยากเติมความเป็นธรรมชาติ และความรู้สึกร่มรื่นลงไปในโครงสร้างที่ดิบเปลือย ทั้งยังเป็นเซอร์ไพรสเล็กๆ ที่ทำให้ผู้ที่ก้าวเข้ามาในสตูดิโอรู้สึกเหมือนเดินเข้ามาเจอกับโอเอซิส 

     “สาเหตุที่เลือกปลูกต้นพยุงเพราะวีชอบลักษณะใบของมันที่มีขนาดเล็กๆ และพลิ้วไหวตามลมแลดูอ่อนโยน ละเมียดลไม ชื่อก็มีความหมายที่ดีเหมือน “พยุง” เราไว้ไม่ให้ล้ม ต้นเฟิร์นที่เห็นล้อมโคนต้นพยุงอยู่เกิดจากตอนที่เราขุดดินบริเวณนี้เพื่อทำบ่อน้ำ แล้วเราทิ้งไว้สักพักเฟิร์นก็ขึ้นมาเอง เลยขุดใส่กระบะมาไว้ตรงนี้จนโตเต็มที่”

     เราไต่บันไดขึ้นไปชมพื้นที่ชั้นสองกันบ้าง พื้นที่บนชั้นนี้ยังคงสภาพเดิมไว้เช่นเดียวกับชั้นล่าง มีการกั้นพื้นที่บางส่วนไว้สำหรับทำเป็นออฟฟิศในบางโอกาสของ Design for Disasters (มูลนิธิที่วิภาวีเป็นผู้ร่วมก่อตั้ง) และเพื่อเอื้อต่อการถ่ายแบบไม่มีส่วนเกินมาทำให้เสียองค์ประกอบภาพ บริเวณชั้นสองจึงไม่มีราวกันตก ซึ่งหากมาใช้งานบริเวณนี้ทีมงานอาจจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ และต้องเตรียมอุปกรณ์ป้องกันให้พร้อม

     ในปัจจุบันนั้นการเปิดโรงงานที่เน้นผลิตผลงานสร้างสรรค์ต้องปฏิบัติตามมาตรการรัฐอย่างเคร่งครัด ทางเข้าถูกจำกัดให้เหลือเพียงช่องทางเดียว และมีการรักษาระยะห่างระหว่างเข้าคิวเช็คอิน โดยแต่ละจุดมีสติกเกอร์มาร์กไว้ห่างกันจุดละ 1.50 เมตร เข้าต้องวัดอุณหภูมิ เช็คอินผ่านแอพพลิเคชั่นไทยชนะ กดเจลล้างมือจากแท่นวางเจลแอลกอฮอล์ล้างมือที่สั่งทำขึ้นเพื่อให้มีฟังก์ชั่นใช้เท้าเหยียบเพื่อลดการสัมผัสโดยตรง  เหยียบพรมฆ่าเชื้อที่มีน้ำยาฆ่าเชื้อที่ต้องคอยเปลี่ยนทุก 4 ชั่วโมง 

     บนโต๊ะด้านหน้ามีถุงซิปล็อคสีแดงสนับสนุนโดย RISC Well-Being สำหรับใส่หน้ากากอนามัยใช้แล้วหรือขยะที่เสี่ยงติดเชื้อ แจกจ่ายให้คนละ 2 ใบ รวมถึงมีหน้ากากผ้าและ face shield แว่นพลาสติกใส แบบไม่มีแถบด้านบน วางจำหน่ายสำหรับคนที่ลืมพกพามา 

     อีกโซนที่จัดวางไว้ตามหลักรักษาระยะห่าง คือ โต๊ะรับประทานอาหาร/โต๊ะทำงาน ที่ติดตั้งแผ่นอะคริลิกใสเป็นฉากกั้น ทั้งหมดแสดงถึงความร่วมมือในการปฏิบัติตามมาตรการของรัฐอย่างครบถ้วน

“อุปกรณ์ต่างๆ สำหรับการตอบรับมาตรการของรัฐในช่วงโควิด-19 เราทำขึ้นมาใหม่ทั้งหมด อย่างถังขยะ ที่ผ่านมาเราพยายามแยกประเภทขยะมาตลอด แต่เพราะช่วงโควิดฯ เราจึงถือโอกาสทำถังขยะใหม่ ติดสติกเกอร์แยกประเภทให้ครบเรียบร้อยวางไว้ในหลายๆจุดเสียเลย” 

     …ทำให้เราได้ศึกษาเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพิ่งจะเข้าใจเหมือนกันว่า ถ้าเป็นกล่องโฟม ที่เปื้อนอาหารนับเป็นขยะทั่วไป ไม่นับเป็นขยะรีไซเคิล เพราะย่อยสลายยากและไม่คุ้มค่าในการนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่

     …ป้ายสื่อสารต่างๆ ต้องให้รายละเอียดชัดว่า เราเตรียมความพร้อมอย่างไร มีข้อจำกัดอย่างไรบ้าง ห้ามเข้าเกิน 50 คน แล้วนอกเหนือจากนี้มีข้อปฏิบัติอย่างไรบ้าง เราก็หวังว่าจะเป็นประโยชน์เพื่อความปลอดภัยของผู้ใช้สถานที่ทุกคนค่ะ”  

     เชื่อว่าอีกไม่นานสถานการณ์คงกลับเข้าสู่สภาวะปกติและเมื่อนั้นพื้นที่แห่งนี้ยังได้รองรับแรงบันดาลใจในรูปแบบที่หลากหลายอย่างไร้ข้อจำกัด

The Factory of Inspiration
ซอยประชาอุทิศ 37
โทร.095 464 5669
Facebook : The Factory Of Inspiration

┃Photography : Somkiat K.

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม