Search
Close this search box.
Search
Close this search box.
HOME / Interview

The Real Fighter – ปิยวรรณ จิตสำราญ

กว่าจะมาเป็นนางแบบไทยในแคมเปญใหญ่ของ Alexander Wang กับมุมมองว่าด้วยวงการนางแบบระดับโลกที่เปิดรับความหลากหลายกว่าที่เคย
Interview

เชื่อว่า แฟชั่นนิสต้าส่วนใหญ่คงได้เห็นแคมเปญ ‘Sisters’ ของ Alexander Wang ที่รวบรวมนางแบบเชื้อสายเอเชียมาผนึกกำลังไว้ในแคมเปญที่ตอกย้ำรากเหง้าของดีไซเนอร์ผู้ก่อตั้งแบรนด์ได้อย่างแข็งแกร่ง และคงจะสะดุดตากับนางแบบโครงหน้าเก๋ล้ำ แบบที่เห็นหนเดียวก็จำได้คนนี้ ไม่ใช่แค่เพราะเธอเป็น “คนไทย” แต่เพราะเธอมีคาแร็กเตอร์ที่โดดเด่นจนยากจะมองข้าม แต่กว่าจะมาถึงวันที่วงการแฟชั่นระดับสากลให้การยอมรับ กิฟท์-ปิยวรรณ จิตสำราญ นางแบบสาวไทยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวในต่างแดนมาหลายซีซั่นเกือบจะแพ็คกระเป๋ากลับบ้านอยู่ก็หลายครั้ง แต่ด้วยความใจสู้ของเธอนี่แหละที่ทำให้ได้เดินหน้าตามความฝันต่อไป การเดินตามฝันในดินแดนแห่งเสรีภาพราบรื่น และน่าตื่นตาอย่างที่ใครหลายคนจินตนาการไว้ไหม เราคิดว่า เรื่องจริงจากประสบการณ์จริงของนางแบบนักสู้คนนี้น่าจะทำให้หลายๆ คนได้ทบทวนว่า ความฝันของเราเป็นจริงได้หรือไม่

ก่อนหน้าจะมาใช้ชีวิตเป็นนางแบบมืออาชีพปิยวรรณก็เหมือนเด็กไทยทั่วไปที่อยากทำงานในสายครีเอทีฟ แต่ครอบครัวอยากให้เลือกเดินในเส้นทางที่มั่นคงและรายได้ดีมากกว่า แต่ด้วยความหัวรั้นเธอก็ยังยืนยันที่จะเลือกเดินบนเส้นทางที่ชอบ หลังจากเรียนจบปริญญาตรีจากคณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยกรุงเทพ เธอจึงเริ่มต้นทำงานประจำเป็นทีมงานเบื้องหลังกองถ่ายโฆษณา ผลปรากฎว่า

“แม่ให้ไปลาออกตั้งแต่วันแรกเลยค่ะ” เธอหัวเราะเสียงดังเมื่อนึกถึงความหลัง งานสำหรับเด็กจบใหม่ เงินไม่พอใช้ กินเวลาชีวิตไปเกินครึ่ง ใครๆ ก็คงรู้ซึ้งถึงข้อนี้ดี

“เราไปออกกองแล้วกลับมาบ้าน 6 โมงเช้า แล้วตอนนั้นได้เงินเดือน 12,000 บาท แม่ถามว่า “งานอะไรวะเนี่ย” เพราะเขาไม่ชินกับงานแบบที่ไม่ได้ทำเป็นงานออฟฟิศ ทีนี้กิฟท์เองก็สนุก เราเต็มที่กับงาน เราก็บอกว่า “ไม่ออก สนุกจะตายไปแม่” แต่พออยู่ไปสักพักก็เริ่มคิดว่า “เฮ้ย! ทำไมเงินน้อยจัง เริ่มไม่พอใช้ แล้วด้วยความที่เราเป็นมือใหม่เขาก็ยังไม่ได้อยากให้เราทำอะไรมาก แต่ก็ได้เรียนรู้มาเยอะค่ะ เราได้รู้ว่า ระบบเป็นอย่างไรบ้าง นับว่า เราตัดสินใจถูกที่ไปทำงานเบื้องหลัง ถึงแม้จะไม่ได้ทำในระยะเวลานาน แต่พอได้ไปเรียนรู้ระบบ แล้วมันสามารถลิงค์กับงานนางแบบได้ เหมือนเราเข้าใจโปรดักต์ที่ต้องถ่าย แล้วก็กระบวนการก่อนถ่าย 

“ตัวนางแบบจริงๆ แล้วเป็นแค่จุดหนึ่งในนั้นน่ะ บางทีเราคิดว่า ทุกคนเชิดชูเรา จริงๆ แล้วไม่ใช่เลย เราเหมือนแค่เป็น 10% ของงานทั้งหมดในนั้น” 

ถึงแม้ว่า เธอจะได้เรียนรู้ทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลังกล้องควบคู่กันไปตั้งแต่สมัยอยู่ในรั้วมหาวิทยาลัย ใจจริงนางแบบหน้าเก๋คนนี้กลับเทใจให้งานเบื้องหลังมากกว่า เพราะเนื้อแท้ข้างในตัวตนของเธอไม่เคยหลงใหลได้ปลื้มกับความฟู่ฟ่าในแวดวงแฟชั่น

 “กิฟท์เป็นเด็กต่างจังหวัดที่เข้ามาเรียนมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ เราก็คิดว่า นางแบบต้องใช้แบรนด์เนม ต้องแต่งตัวเก่ง คิดเหมือนเด็กต่างจังหวัดมองนางแบบครั้งแรกน่ะค่ะ ตอนนั้นก็เลยไม่ชอบอาชีพนี้ อยากเป็นคนธรรมดาๆ ทีแรกแอนตี้ด้วยซ้ำ เวลาไปทำงานนางแบบจะต้องสูดลมหายใจลึกๆ ก่อนไป เวลาไปทำงานแล้วเห็นเขาต้องจิ๊จ๊ะ “เฮ้! สวัสดีค่ะ” แบบนี้กิฟท์จะไม่ชอบเลย กิฟท์จะนั่งอยู่เฉยๆ คนเดียว 

…เรารู้สึกว่า ไม่ belong กับสิ่งนั้น ไม่ได้เหมือนคนอื่นเขา แล้วพอเราไม่คุยกับเขา ผู้ใหญ่บางคนก็จะไม่ชอบเรา คิดว่าเราไม่น่ารัก ไม่จ๊ะจ๋า ตอนนั้นขาเราก็ลาย เราก็คิดว่า ทำไมนางแบบคนอื่นเขาผิวดีจัง ของเรามีแต่แผล 

“ช่างแต่งหน้าเคยพูดคำหนึ่งกิฟท์จำได้แม่นเลย เขาบอกว่า “พี่ช่วยหน้าน้องได้แค่นี้นะ” เราไม่ได้มีพื้นหน้า โครงหน้าที่สวย เหมือนกับหน้าเราแปลก เพราะอย่าลืมว่า สมัยนั้นเขาจะชอบนางแบบสวยๆ ใช่ไหมคะ ส่วนเราก็คือ หน้าแปลก หน้าไม่สวย กิฟท์เลยแอนตี้นิดหนึ่ง”

แต่ด้วยความที่ต้องการรายได้เสริมทำให้เธอกัดฟันรับงานนางแบบต่อไป ก่อนจะได้ไปอเมริกาตามที่ฝันไว้   

“เรามีความตั้งใจอยู่แล้วว่า อยากมาอเมริกาตั้งแต่เด็กๆ แล้วล่ะ วางแผนแล้วแหละว่า จะทำงานสักแป้บหนึ่งแล้วเดี๋ยวจะมาอเมริกา เพราะอยากเรียนหนัง อยากเป็นผู้กำกับ อยากเป็น casting director เป็นอะไรก็ได้ที่เป็นงานเบื้องหลัง ตั้งใจว่าจะมาเรียนเพิ่มเติมค่ะ” 

แต่ชีวิตในต่างแดนแห่งแรกของเธอยังไม่ได้ไปถึงดินแดนในฝันในทันที 

“กิฟท์น่ะอยากไป แล้วทีนี้แม่ไม่ให้ไป กิฟท์ก็เลยจะไปสมัครเป็นพี่เลี้ยงเด็กออแพร์ (Au Pair)  เพราะอยากมามาก แต่แม่ไม่ให้เงินเรามา ตอนนั้นเงินเดือนเราก็ยังไม่สามารถเก็บได้พอที่จะมาเองได้ แล้วพอบอกแม่ว่า จะไปเลี้ยงเด็ก แม่บอก “จะบ้าเหรอ” อย่างกิฟท์ไม่น่าจะไปเลี้ยงเด็กได้ แม่บอกว่า “เอาอย่างนี้ ถ้ายูอยากไปน่ะ ไม่ต้องไปเลี้ยงเด็ก แต่ไปอยู่เมืองที่ฉันรู้จักคน ฉันจะได้ฝากเธอกับเขา” เพราะเราไม่เคยไปต่างประเทศคนเดียว สุดท้ายก็คือพี่ข้างบ้าน เขาไปเรียนต่อที่ควีนแลนด์ บริสเบน ประเทศออสเตรเลีย ก็เลยไปที่นี่ก่อน” 

หลังจากนั้นเธอก็ยังกลับมาเมืองไทยเพื่อรับปริญญา และทำงานเป็นโปรดิวเซอร์ในวงการโฆษณาเพื่อเก็บเงินไปเดินตามฝันอีกครั้ง จนกระทั่งได้ไปใช้ชีวิตอยู่ในลอสแองเจลีสอยู่ 2-3 เดือน ก่อนจะมีโมเดลลิ่งมาชักชวนให้ไปทำงานนางแบบที่นิวยอร์ก

“ชีวิตในนิวยอร์ก tough ค่ะ ตอนอยู่แอลเอ เราทำงานร้านอาหาร เราเก็บเงินได้ง่ายมากเลย อาหารซื้อ portion หนึ่งอยู่ได้หลายวัน บางทีที่ร้านก็ให้มาฟรี แทบจะไม่ได้ใช้เงินเลย ค่าเช่าบ้านก็ราคาถูก พอย้ายมาอยู่นิวยอร์กปุ๊บ หายไปแบบ 2,000 – 3,000 เหรียญในเดือนแรกเลย ทุกอย่างเสียเงินง่ายจัง จริงๆ แล้วค่าครองชีพไม่แพงหรอกค่ะ มันขึ้นอยู่กับเราเลือกว่าจะอยู่ย่านไหน แต่เหมือนทุกอย่างมันเข้าถึงเราง่าย เห็นคนใส่เสื้อผ้าแบบนั้นแบบนี้ เราก็อยากใส่บ้าง เราก็เลยเก็บเงินไม่ค่อยได้เวลาอยู่ที่นิวยอร์ก

…ในขณะเดียวกันโอกาสการทำงานก็เยอะค่ะ ด้วยความที่นิวยอร์กเป็นเมืองแฟชั่นเนอะ เราก็ได้รู้จริงๆ ว่า นี่แหละการทำงานแฟชั่นเขาทำอย่างนี้ profession model เขาเป็นอย่างนี้ สตูดิโอจริงๆ เป็นอย่างนี้  แฟชั่นวีคเป็นแบบนี้ ก่อนหน้านี้กิฟท์ยังไม่ค่อยรู้จักชื่อแบรนด์เมืองนอกเลย พอมาอยู่นิวยอร์กก็เริ่มรู้จักมากขึ้น” 

ชีวิตใน Big Apple นั้นแสนหฤโหดสำหรับคนที่ไปตามฝัน แต่ต้องมาเจอกับความจริงที่ไม่สวยงามอย่างที่คิด นางแบบเอเชียอย่างเธอก็ต้องเจอะเจอกับความผิดหวังมานับครั้งไม่ถ้วนเช่นกัน

“กิฟท์ท้อจนจะเลิกทำหลายทีแล้ว ทำไมไม่ใช่เรา ทำไมโดนปฏิเสธ คนนี้ดีกว่าเราตรงไหน ทำไมเขาถึงเลือก ทำไมบุ๊กเกอร์ส่งงานให้คนนี้มากกว่าเรา ความคิดแบบนี้มีตลอดเวลาเลย จนถึงตอนนี้ก็ยังมี แต่จริงๆ แล้วมันอยู่ที่ว่า เราเปลี่ยนความคิดของเราได้อย่างไร พออยู่ไปนานๆ เราก็เริ่มเปลี่ยนความคิด เราไม่ได้เอาสิ่งเหล่านั้นมากระทบเราน่ะ โดนปฏิเสธก็แค่ไปหาเจ้าอื่นแค่นั้นเอง ในเมื่อลูกค้าเจ้านี้ไม่ชอบเรา เพราะเราไม่ใช่ลุคเขา เราก็ไปที่อื่น 

…แต่ในตอนนั้นก็หนักอยู่เหมือนกันค่ะ กิฟท์เคยเจอแบบไปถึงแล้วเขาให้เรากลับบ้านเลยก็มีนะ ตอนแรกเขาจะจ้างเราสองวัน พอไปถึงแล้วเรากลับใส่ชุดเขาไม่ได้ กางเกงไม่ฟิต เขาก็ให้เรากลับบ้านวันนั้นเลย ตอนนั้นกิฟท์จำได้เลย เรานั่งรถไฟกลับบ้านแล้วก็นั่งร้องไห้ เราไม่เคยโดนไล่กลับบ้าน มันเสียเซลฟ์เนอะ 

แต่พอได้ไปคุยกับพี่แบงค์ที่เป็นช่างแต่งหน้าที่กิฟท์สนิทกับเขา เขาพูดกับเราว่า 

“กิฟท์มันเป็นเรื่องปกติมากเลยสำหรับที่นี่ ถ้าเราไม่ฟิตกางเกงเขาน่ะ เขาก็หาคนมาใหม่ เขาจะมาดันทุรังใส่ให้เราทำไมอีกสองวัน เขาก็ไม่ได้รูป เอาไปใช้ไม่ได้ แต่ยังดีเขายังจ่ายเงินเราเต็มวัน แต่มันคืออุบัติเหตุ เขาก็แค่เปลี่ยนนางแบบใหม่ ไม่เห็นต้องคิดมากเลย” 

…ตอนนั้นกิฟท์ถึงได้เข้าใจว่า มันไม่ได้มีอะไรที่เป็นเรื่องส่วนตัว ไม่ใช่ว่าฉันเกลียดขี้หน้าเธอ มันแค่ว่าเราใส่กางเกงของแบรนด์เขาไม่ได้ แล้วเขาก็ขายกางเกงไม่ได้ เพราะว่าเราใส่ไม่สวย” 

นางแบบสาวเล่าให้ฟังว่า งานส่วนใหญ่ที่เธอแคสต์ผ่านโดยมากแล้วแต่เทรนด์ ณ ขณะนั้น และขึ้นอยู่กับเอเจนซี่จะส่งไปแคสต์ หรือในช่วงแรกๆ งานส่วนใหญ่เป็นงาน commercial มากกว่างานแฟชั่น และงานที่มีเข้ามาบ่อยก็คืองาน fitting model ในโชว์รูม ซึ่งเธอลงความเห็นว่า “ไม่มัน” 

“พักหลังๆ ตอนอยู่นิวยอร์ก กิฟท์เริ่มได้งานรูปแบบเดิมๆ อย่างงาน fitting model ในโชว์รูม แล้วมันน่าเบื่อ ทั้งๆ ที่ได้เงินดีมากเลยนะ แต่เริ่มรู้สึกว่า พออายุเราเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แล้วถ้าวันหนึ่งเราต้องหยุดเป็นนางแบบ ก่อนหยุดเราก็อยากทำงานให้เต็มที่ อยากลองหลายๆ งานก่อนที่วันหนึ่งเราต้องเลิกเป็นนางแบบ เรารู้สึกเสียดายตัวเองถ้าต้องไปอยู่เป็นนางแบบ fitting อยู่ในห้อง แล้วก็เปลี่ยนชุดๆ อย่างนี้ทั้งปี

…การทำงานต้อง “มัน” นิดหนึ่งน่ะ ไม่อย่างนั้นเราไม่อยากไปทำงาน  หลังๆ เลยเริ่มหมด passion เพราะเราไม่ต้องไปแข่งขันแล้วไง พอไปเป็น fitting model เขาแค่ส่งรูปแล้วก็เลือกเลย ไม่ต้องไปแคสต์อะไรทั้งสิ้น แล้ววันหนึ่งก็ใส่ชุดวนไปสิ ร้อยชุดต่อหนึ่งวัน เบื่อไหมล่ะ” 

ฟังเธอเล่าแล้วก็เห็นภาพชัดว่า การทำในสิ่งเดิมๆ เป็นร้อยเป็นพันครั้งถึงแม้จะหาเลี้ยงตัวเองได้ แต่ความท้าทายก็ยังจำเป็นในการหล่อเลี้ยง passion และงานที่ท้าทาย และ “มัน” ที่สุดในชีวิตของเธอคงต้องเป็นงานแคมเปญ Sisters ของแบรนด์ยักษ์อย่าง Alexander Wang แน่ๆ ที่มาของงานใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งในชีวิตเกิดขึ้นได้อย่างไร เธอย้อนเล่าให้ฟังอย่างละเอียด

“ตอนกิฟท์ย้ายอยู่แอลเอก็ไม่ได้ตั้งใจจะมาหางานนางแบบ เพราะเคยมาหาเอเจนซี่ที่นี่อยู่สองครั้งก็ไม่ได้ รอบนี้ก็เลยมาเพื่อจะทำอย่างอื่น จริงๆ จะมาทำ airbnb อยากเปิดร้านกาแฟ แล้วพอช่วงโควิดฯ งานนางแบบน้อยลงอยู่แล้วแหละ ก็เลยอยากจะมาหาอาชีพอื่นทำ แต่ปรากฏว่า ก็ได้กลับมาทำงานนางแบบเหมือนเดิม  เพราะร้านอาหารก็เปิดไม่ได้ airbnb ตอนนี้ก็เจ๊ง ก็เลยเริ่มหาเอเจนซี่ แล้วก็ submit เองด้วย แล้วก็มาเจอเอเจนซี่ชื่อ Margaux น่ะค่ะ เขาเรียกเข้าไปคุย แล้วก็ได้โอกาสเลย 

…อย่างงาน Alexander Wang นี่ กิฟท์เองก็งงว่า ทำไมเขาถึงมาหานางแบบที่นี่ แต่เหมือนเขาตั้งใจจะมาถ่ายที่นี่อยู่แล้วค่ะ เขาแคสต์ทั้งนางแบบที่นิวยอร์ก แล้วก็แคสต์นางแบบที่แอลเอด้วย เพราะเขาอยากได้นางแบบที่สามารถแอ็คติ้งได้ด้วย แล้วในแคมเปญนั้นเป็นนางแบบเอเชียทั้งหมดเลย

…เขาก็ให้ส่งเทป casting เพราะตอนนี้ช่วงโควิดฯ ที่แอลเอส่วนใหญ่จะเป็นการแคสต์แบบ self-tape เราต้องอัดวิดีโอส่งให้เขาเอง ตอนส่งกิฟท์กำลังไปเที่ยวอยู่ที่ฮาวาย แล้วเราเป็นคนที่ถ้าไปเที่ยวแล้ว งานอย่ามาแทรกนะ  ฉัน take vacation อยู่ แล้วรู้ว่า Alexander Wang เป็นงานใหญ่ ถ้าได้คงได้ตั้งแต่อยู่นิวยอร์กแล้ว เราไม่คิดว่าจะได้ก็เลยทำส่งไปแบบไม่ค่อยตั้งใจ  ส่งก็ยาก เพราะอยู่ฮาวายไม่ค่อยมีสัญญาณ จะออกไปเที่ยวก็ต้องกลับมาอัดวิดีโอใหม่ เราก็ส่งให้มันจบๆ ไป”

ดูเหมือนว่า ดีไซเนอร์สายเลือดเอเชียคงต้องถูกใจในเทป casting ของเธอเข้าอย่างจัง เธอจึงเป็นนางแบบเพียงหนึ่งเดียวที่แคสต์ผ่านจาก self-tape ที่เธอบอกว่า “ทำไปอย่างไม่ค่อยตั้งใจ” และได้รับบทบาทที่โดดเด่นเกินคาด จากแคมเปญที่เหมือนเป็นการไฮไลต์ให้คนทั้งโลกได้เห็นหน้าค่าตานางแบบเอเชียว่า มีความหลากหลาย และน่าสนใจไม่แพ้นางแบบเชื้อชาติอื่นๆ ในฐานะนางแบบเอเชียคนหนึ่งที่ทำงานอยู่ในวงการแฟชั่นระดับโลกมองว่า วงการนี้ให้พื้นที่นางแบบฝั่งตะวันออกมากพอหรือยัง เธอตั้งข้อสังเกตว่า

“จริงๆ นางแบบเอเชียมีเยอะมากอยู่แล้วนะ ยิ่งที่นิวยอร์กช่วงแฟชั่นวีคนี่มากันเยอะมาก  แต่กิฟต์ว่านะ เทรนด์ตอนนี้ ไม่ใช่นางแบบเอเชียหรอกที่กำลังมา แต่เป็นนางแบบที่เป็นคนปกติ ตอนนี้แบรนด์แฟชั่นพยายามจะเอาคนที่เป็นคนจริงๆ มาเป็นแบบ อย่างตอนนี้นางแบบพลัสไซส์ก็กำลังมา นางแบบหน้ามีกระก็มา จะเป็นนางแบบฟันห่าง นางแบบอาวุโสผมขาวก็ยังเป็นแบบได้ ยิ่งถ้าที่แอลเอน่ะมีเยอะมากเลยนางแบบที่เป็นคนปกติธรรมดา ซึ่งกิฟท์ว่า มันเจ๋งดี มันเปลี่ยนเทรนด์ใหม่ 

…แล้วที่บางคนอาจจะเข้าใจว่า เอเชียนกำลังมาจริงๆ แล้วไม่ใช่หรอกค่ะ กิฟท์ว่า เขาเปิดโอกาสให้ทุกคนที่ไม่ใช่ฝรั่งอย่างเดียวน่ะ อย่างการจัดแฟชั่นโชว์สักหนึ่งโชว์ โดยปกติแล้วเขาก็จะวางไว้แล้วว่า มีนางแบบฝรั่งกี่คน มีนางแบบเอเชียมาสัก 2-3 คน มีนางแบบผิวสี 5 คน แต่ตอนนี้เปลี่ยนแล้ว ตอนนี้จะมีนางแบบพลัสไซส์มาผสมแล้ว ตอนนี้ส่วนใหญ่กิฟท์จะได้งานที่รวมกับหลายๆ เชื้อชาติหลายงานมาก” 

การร่วมงานกับหลายๆ คนที่เป็นตัวจริงในแวดวงแฟชั่นระดับ worldclass ก็ยังทำให้เธอรู้สึกประทับใจ รวมถึงกลุ่มคนแฟชั่นตัวเล็กๆ ที่เป็นคนธรรมดาที่มาตามหาความฝันก็ยังเป็นเรื่องราวที่เธอรู้สึกประทับใจ และอยากส่งกำลังใจให้พวกเขาไม่ย่อท้อ

“ถ้าเป็นกลุ่มที่มีชื่อเสียงหน่อยกิฟต์คงจะประทับใจในกลุ่มแฟชั่นดีไซน์เนอร์ อย่าง Alexander Wang กิฟท์ก็รู้จักเขาว่า เขาเป็นดีไซเนอร์แบรนด์ดัง แล้วพอมาร่วมงานกันจริงๆ เขาเป็นคนทำงานที่ลง detail มากๆ เขายกเก้าอี้เอง เขาทำทุกอย่างเอง เขาอยู่ในทุกขั้นตอน แล้วเขาเป็นดีไซเนอร์ใหญ่น่ะค่ะ กิฟท์ก็เลยรู้สึกประทับใจในตัวเขามาก วันถ่ายงานเขาเดินเข้ามาหาเรา แล้วก็ทักทายเราว่า “Hi Piya! My name is Alex.” กิฟท์ยังช็อคเลยว่า “ใช่เขาจริงหรือเปล่า” เพราะตอนนั้นเขาใส่แมสก์ใช่ไหม กิฟท์ยังขอจับตัวเขาเลยนะ (หัวเราะ) 

…ถ้ากลุ่มที่ไม่ใช่พวกแฟชั่นดีไซเนอร์ก็น่าจะเป็นคนธรรมดาเหมือนกับกิฟท์ คนที่มาตามหาความฝัน มาทำงานในต่างประเทศ แล้วเขาพยายามสู้ในแบบของเขา เราก็ประทับใจ เพราะยังมีอีกหลายคนที่ไม่ได้มีโอกาสเหมือนกับที่กิฟท์ได้ คนอื่นไม่รู้ คนอื่นไม่ได้มาปรบมือชื่นชมเขาน่ะ อย่างการที่มีคนมาสัมภาษณ์เราน่ะเอาจริงๆ เราไม่ได้ต้องการให้ใครมาชื่นชมหรอก แต่เราต้องการกำลังใจ สำหรับบางคนที่เขาทำ แล้วไม่ได้มีใครมาเห็น มาชื่นชม เขาก็หมดกำลังใจไงคะ แต่สำหรับกิฟท์คนพวกนี้น่าชื่นชมเหมือนกัน” 

ในฐานะคนที่ทำงานในแวดวงแฟชั่นในต่างประเทศมานาน และประสบความสำเร็จในระดับที่น่าพึงพอใจ ปิยวรรณยืนยันว่า ความฝันในการทำงานในต่างแดนไม่ใช่แค่เรื่องเพ้อฝัน ขอเพียงแค่ตั้งใจจริง ไม่เทความฝันทิ้งลงข้างทางไปก่อน

“เราจะทำอะไรก็ทำได้ ขอแค่เราตั้งใจจริงๆ เข้าใจแหละว่า การขอวีซ่าอาจจะไม่ง่าย เราไม่สามารถ ได้วีซ่านางแบบแล้วมาทำงานได้เลย ตอนแรกกิฟท์เองก็มาด้วยวีซ่านักเรียนเหมือนกัน แต่กิฟท์ก็รู้จักหาหนทางเปลี่ยน ต้องไปเดินหาเอเจนซี่เป็น 10-20 แห่งต่อวันเราก็ไปเดินหาแล้วเหมือนกัน แล้วกิฟท์เชื่อว่า น้องๆ คนอื่นที่มาทำงานในวงการแฟชั่นที่นี่เขาก็พยายามเหมือนกันเพื่อจะได้วีซ่า ซึ่งมันก็ยากแหละ เพราะมีคู่แข่งเยอะ แต่มันขึ้นอยู่กับเราว่า สุดท้ายแล้วบางคนอาจจะคิดว่า ฉันไปทำร้านอาหารแล้วกัน ได้เงินดีกว่า แล้วฉันไม่ต้องไปนั่งลุ้นว่า ฉันจะได้เป็นนางแบบไหม หรือได้งานอื่นๆ ไหม มันก็มีคนคิดแบบนี้เหมือนกันไง แต่กิฟท์เป็นคนแบบ ฉันจะต้องทำสิ่งนี้ให้ได้” เธอเน้นย้ำด้วยความมุ่งมั่น

“จริงๆ กิฟท์ว่า ถึงจะมาวีซ่านักเรียนก็มีโอกาส แต่ถ้าเป็นในเมืองไทยแอบเสียใจตรงที่บางทีเขาไม่ให้โอกาส อย่างบางงานกิฟท์ไม่เคยทำที่ไทย แต่กลับมีโอกาสทำที่นี่ก็มี อย่างงานโฆษณา กิฟท์ได้ทำที่ไทยน้อยมาก แต่กลับมีโอกาสทำที่นี่ เหมือนโอกาสที่นี่เยอะกว่า 

“เขาไม่ได้เลือกเฉพาะคนสนิท เขาไม่ได้เลือกคนสวย เขาไม่ได้เลือกคนดัง แต่เขาเลือกตามลุค แล้วอีกอย่างตลาดเขาใหญ่กว่าเมืองไทย”

สมมติว่า นิตยสารเล่มนี้ไม่ถ่ายเรา นิตยสารเล่มอื่นก็มาถ่ายเรา แต่อย่างเมืองไทยมีนิตยสารน้อย สมมติ มีอยู่ 10 หัว ถ่ายกิฟท์ไปแล้วครึ่งหนึ่ง อีกครึ่งก็ไม่อยากถ่ายกิฟท์ แล้ว เบื่อแล้ว หรือบางอย่างเมืองไทยก็ไม่ทำอยู่ดี สมมติว่าใช้นางแบบพลัสไซส์ เมืองไทยมีนางแบบพลัสไซส์ไหมตอนนี้ ก็คงมีแต่ก็มีน้อย”

ถ้าเกิดมีรุ่นน้องมาขอคำแนะนำว่า อยากเดินสับขาฉับๆ ตามรอยรุ่นพี่ที่ประสบความสำเร็จในอเมริกาอย่างเธอบ้าง รุ่นพี่คนนี้จะให้คำแนะนำรุ่นน้องว่าอย่างไรดี เราอาสาถามแทน

“ถ้าอยากเป็นนางแบบ หนึ่ง ต้องรู้นะว่า นางแบบที่นี่กับนางแบบที่เราคิดน่ะเหมือนกันหรือเปล่า นางแบบที่นี่ คือ ทำเพื่ออาชีพ ทุกอย่างต้องทำเพื่อเสริมอาชีพตัวเอง เช่น วันนี้ถ้ากิฟท์ไม่ทำงาน กิฟท์ต้องไปออกกำลังกาย ต้องไปดูแลผิวพรรณ ไปทำเล็บ มันคือส่วนหนึ่งของอาชีพ เราต้องดูแลตัวเอง ถ้าทั้งอาทิตย์ไม่มีงานเราก็อาจจะอัด self-tape พวกนี้มันคือการทำงานของเราเหมือนกัน ไม่ใช่ว่า ยูจะมาเป็นนางแบบเพื่อให้ดูเก๋ ดูเท่กว่าคนอื่น ต้องนึกก่อนว่า นางแบบที่ยูอยากเป็นน่ะเป็นอย่างไร 

…สอง ก็ต้องสู้แล้วอย่าไปหลงกับสิ่งเร้าข้างนอกที่มันจะบั่นทอนจิตใจ เช่น ไปแคสต์แล้วไม่ได้ก็ท้อ หรือเห็นคนนี้ดีกว่าแล้วรู้สึกว่า ตัวเองไม่ดี สิ่งเหล่านี้ให้ตัดทิ้งไป เพราะมันต้องมีคนสวยกว่าเราอยู่แล้ว มีคนสูงกว่าเราอยู่แล้ว หรือมีคนแอ็คติ้งดีกว่าเราอยู่แล้ว แต่ว่าเราจะทำอย่างไรให้สิ่งเหล่านั้นไม่ได้บั่นทอนจนเราท้อ เราเลิกทำ” 

ติดตามบทสัมภาษณ์ฉบับเต็มได้ในนิตยสารลิปส์ ฉบับเดือนกันยายน 2564 

PHOTOS : Cloudnineliving, Kenny Sweeney

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม