วิน-เมธวิน โอภาสเอี่ยมขจร ได้รับของขวัญคริสต์มาสล่วงหน้าเป็นเครื่องประดับ Tiffany & Co. ที่ส่ง Holiday Collection มาให้ LIPS ชวนไปทำความรู้จักกับหนึ่งในสีสุดไอคอนิกที่ผู้คนทั่วโลกจดจำได้มากที่สุด จนไม่รู้จักชื่อเดิมของเจ้าฟ้านี้ แต่กลับเข้าใจตรงกันได้เมื่อพูดถึง ‘สีฟ้าทิฟฟานี’
ช่วงต้นทศวรรษที่ 1990 Stephen Breyer ผู้พิพากษาศาลฎีกาสหรัฐกล่าวถึงบริษัทผลิตแผ่นรองรีด 2 แห่งซึ่งฟ้องร้องกันว่าทำแผ่นรองรีดแบบเดียวและสีเดียวกันว่า “ลำพังแค่สีก็สามารถมีผลทางกฎหมายได้จากการใช้สีนั้นๆ เป็นเครื่องหมายการค้า สีสามารถใช้เป็นสัญลักษณ์ในการแยกแยะและบ่งชี้อัตลักษณ์ของผลิตภัณฑ์จากบริษัทนั้นๆ ได้ โดยไม่จำเป็นว่าสีต้องมีคุณประโยชน์อื่นใดเป็นพิเศษ”
คำพิพากษานี้ใช้อธิบายได้ดีว่าเหตุใดแค่เห็น Tiffany Blue® หรือสีฟ้าทิฟฟานี โดยไม่ต้องมีชื่อแบรนด์ ผู้คนต่างก็รับรู้โดยทั่วกันว่านี่ละคือแบรนด์เครื่องประดับ Tiffany & Co. และไม่ใช้สีที่แบรนด์เพิ่งใช้ แต่อยู่คู่กับแบรนด์มามากกว่า 100 ปีแล้ว
ไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัดว่าเพราะเหตุใด Tiffany & Co. จึงใช้ ‘สีฟ้าไข่นกโรบิน’ แต่ Blue Book แคตาล็อกเล่มแรกของแบรนด์ที่ออกมาในปี 1845 มีหน้าปกเป็นสีฟ้าอมเขียวที่ออกเขียวมากกว่าสีฟ้าทิฟฟานีในทุกวันนี้ ทางแบรนด์ออก Blue Book มาอีกหลายเล่มและใช้ปกสีฟ้าหลายเฉด บางเวอร์ชันเป็นปกสีน้ำเงินไปเลย จนกระทั่งในปี 1996 จึงได้หยุดไว้ที่สีเดียว ซึ่งคล้ายกับสีฟ้าทิฟฟานี
หลักฐานอื่นๆที่บ่งบอกว่าสีฟ้าอมเขียวอยู่คู่กับแบรนด์มายาวนานคือภาพเขียนในปี 1889 ที่ทางแบรนด์ไปออกร้านที่งาน World’s Fair Trade ที่ปารีสก็ใช้ผ้าสีฟ้าอมเขียวตกแต่งซุ้ม
อาจเป็นได้ว่าช่วงปลายยุค 1800 ถึงต้นยุค 1900 มีการขุดค้นพบเทอร์ควอยส์ในอเมริกาเป็นครั้งแรกและราคาสูง จึงกลายเป็นสัญลักษณ์ของความหรูหรา ครั้นข้ามฝั่งไปอังกฤษ บรรดาเจ้าสาวยุควิกตอเรียนนิยมมอบเข็มกลัดเทอร์ควอยส์เป็นของชำร่วยให้แก่แขกเหรื่อ แม้แต่เข็มกลัดทรงดอกกล้วยไม้ของ Tiffany & Co. ที่มาจากยุคนั้น ซึ่งเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art ก็อยู่ในกล่องสีเทอร์ควอย์ที่ด้านในเป็นสีครีม เป็นหลักฐานอีกชิ้นว่าทางแบรนด์ใช้แพ็กเกจจิงสีฟ้าเฉดนี้มานานกว่าร้อยปีแล้ว
Charles Lewis Tiffany และ John B. Young ผู้ก่อตั้งเมซงยังจารไว้ใน Blue Book อย่างชัดเจนว่าเมซงไม่ขายกล่องเปล่าๆ แม้จะเสนอเงินให้มากเพียงไรก็ตาม กล่องสีฟ้าจะออกจากเมซงได้ก็ต่อเมื่อมันห่อหุ้มผลงานรังสรรค์ของ Tiffany & Co. เท่านั้น ยิ่งตอกย้ำคุณค่าและมูลค่าของสีฟ้าทิฟฟานี
กระทั่งในปี 1998 สีฟ้าได้กลายเป็นเครื่องหมายการค้าอย่างเป็นทางการ และสถาบันแพนโทนสียังคิดค้นสี ‘1837 Blue’ ซึ่งตั้งชื่อตามปีที่ก่อตั้งแบรนด์ “เมื่อตาคุณได้สบกับสีฟ้าทิฟฟานีในเฉดสีน้ำทะเล มันจะกระซิบบอกคุณถึงความสดสว่างและการหลีกลี้ สีนี้จะพาคุณข้ามไปยังโลกที่เต็มไปด้วยความหรูหราเปี่ยมสุข” Laurie Pressman รองประธานสถาบันแพนโทนสีกล่าวถึงสีฟ้าทิฟฟานี
หนึ่งคนละที่จะเห็นด้วยก็คือฮอลลี โกไลต์ลีย์ ผู้ชอบไปยืนกินมื้อเช้าหน้าบูติกของแบรนด์ จนกลายเป็นฉากในตำนานจากหนัง Breakfast’s at Tiffany’s เพราะ “มันทำให้สงบลงได้ในทันที ด้วยความเงียบและความโก้หร่านของมัน ไม่มีเรื่องเลวร้ายใดจะเกิดขึ้นได้ที่นี่…ถ้าฉันหาที่ไหนที่ทำให้ฉันรู้สึกได้เหมือนร้านทิฟฟานี ตอนนั้นละ ฉันถึงจะซื้อเฟอร์นิเจอร์และตั้งชื่อแมว”
ไม่มีสีเครื่องหมายการค้าใดในโลกที่ผูกโยงแนบชิดกับแบรนด์ได้มากเท่ากับ Tiffany & Co. กับสีฟ้าอมเขียวที่เกิดจากการผสมของสี RGB 82, 183 และ 189 จนเว็บไซต์ AdWeek เขียนไว้ว่า “กล่องสีฟ้าทิฟฟานีอาจเป็นบรรจุภัณฑ์สินค้าที่เป็นที่จดจำได้มากที่สุดและน่าปรารถนาที่สุดในประวัติศาสตร์” เลยทีเดียว
Words: Suphakdipa Poolsap
ข้อมูลจาก: