Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

ผลการศึกษาชี้ผู้หญิงที่กิน ‘อาหารแปรรูปสูง’ อาจเสี่ยงเป็น ‘โรคซึมเศร้า’

Beauty / Wellness & Aesthetic

ไอศกรีมเอย…ช็อกโกแลตเอย…ไส้กรอกเอย…มันฝรั่งทอดเอย ฯลฯ อร่อยเพลินจนหยุดไม่ได้ทีเดียว แต่รู้ไหมว่าการกินอาหารแปรรูปสูง (Ultra-Processed Foods) เหล่านี้ นอกจากส่งผลเสียต่อสุขภาพในระยะยาวแล้ว ยังอาจเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดโรคซึมเศร้าได้อีกด้วย

เป็นไงมาไง ลิปส์เอาข้อเท็จตลอดจนผลการศึกษามาฝากค่ะ!

อาหารแปรรูปสูงคืออะไร?

ก่อนอื่นเลยต้องทำความเข้าใจ ‘อาหารแปรรูปสูง’ กันก่อน ซึ่งสำนักข่าวกรมประชาสัมพันธ์ให้ข้อมูลว่า ‘อาหารแปรรูปสูง’ หรือ Ultra-Processed Foods (UDF) นั้น เป็นหนึ่งในกลุ่มอาหารที่ถูกจำแนกโดยองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ตามระบบ The NOVA Food Classification System ซึ่งแบ่งได้เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้

  • กลุ่มที่ 1 อาหารไม่ผ่านกระบวนการ (Unprocessed Foods) หรือผ่านกระบวนการเพียงเล็กน้อย (Minimally Processed Foods) โดยอาหารกลุ่มนี้เป็นเพียงการนำส่วนที่บริโภคไม่ได้ออกไป ไม่ว่าจะเป็นผ่านการบด แยกส่วน กรอง คั่ว ต้ม หมัก การทำให้แห้ง ตลอดจนพาสเจอไรซ์ แช่เย็น แช่แข็ง บรรจุในภาชนะหรือบรรจุภัณฑ์สุญญากาศ เพื่อเป็นการรักษาคุณภาพและคงความสดของอาหารตามธรรมชาติไว้
  • กลุ่มที่ 2 อาหารผ่านกระบวนการโดยใช้เครื่องปรุง (Processed Culinary Ingredients) เช่น น้ำมัน เนย น้ำตาลและเกลือ เพื่อเตรียมปรุงอาหารในครัวเรือน
  • กลุ่มที่ 3 อาหารผ่านกระบวนการ (Processed Foods) คืออาหารแปรรูปที่ใช้น้ำมัน น้ำตาล หรือเกลือเป็นส่วนผสม และรวมถึงอาหารที่ผ่านวิธีการถนอมอาหารต่างๆ เช่นการหมัก การดอง การรมควัน หรือการบ่ม เพื่อให้ส่วนผสมแทรกเข้าไปและเปลี่ยนแปลงลักษณะตามธรรมชาติของอาหาร เช่น ผัก-ผลไม้บรรจุขวด ปลากระป๋อง เนื้อสัตว์แปรรูป เช่น แฮม หรือเบคอน เป็นต้น
  • และกลุ่มสุดท้ายที่เราโฟกัสคือ อาหารที่ผ่านกระบวนการสูง (Ultra-Processed Foods) ที่ใช้กระบวนการทางอุตสาหกรรมแบบต่างๆ หลายขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการไฮโดรไลซิส ไฮโดรจีเนชัน หรือวิธีทางเคมีอื่นๆนอกจากนั้นยังพบน้ำตาล ไขมัน โซเดียม สารเสริมต่างๆ อย่างสีผสมอาหาร สารแต่งกลิ่น อิมัลซิฟายเออร์ สารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ฯลฯ เพื่อเพิ่มความน่ารับประทาน รวมถึงพบการใส่สารยืดอายุเพื่อป้องกันการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์ในอาหารอีกด้วย

และถ้าถามว่าในท้องตลาด อาหารที่ผ่านกระบวนการสูงหรืออาหารแปรรูปสูงนี้ หน้าตาเป็นอย่างไร? คำตอบก็คือจำพวกอาหารว่าง (Snacks) ต่างๆ อย่างขนมขบเคี้ยว มันฝรั่งทอด ช็อกโกแลต ลูกอม ลูกกวาด ไส้กรอก อาหารแช่แข็ง อาหารฟาสต์ฟูดตะวันตก บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป มาการีน ไอศกรีม ขนมปัง และผลิตภัณฑ์ขนมอบที่ผลิตในระดับอุตสาหกรรม เป็นต้น

ผลการศึกษาพบว่า ‘อาหารแปรรูปสูง’ อาจส่งผลต่อโรคซึมเศร้า

การศึกษาครั้งนี้ตีพิมพ์ในวารสาร JAMA Network Open โดยศึกษาพฤติกรรมการกินและภาวะสุขภาพจิตของผู้หญิงมากกว่า 31,000 คน ที่มีอายุระหว่าง 42 ถึง 62 ปี โดยผู้เข้าร่วมมาจากโครงการ Nurses’ Health Study II โครงการวิจัยที่ใหญ่ที่สุดเกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังในสตรี

โดยผลวิจัยพบว่าผู้หญิงที่กินอาหารแปรรูปสูง 9 ครั้งต่อวัน มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่าผู้หญิงที่กินไม่เกิน 4 มื้อต่อวันถึง 50% 

และการศึกษายังพบอีกว่า การบริโภคอาหารและเครื่องดื่มมีสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาลในปริมาณมากส่งผลเสียได้ด้วยเช่นกัน

ว่าด้วยข้อจำกัดในงานศึกษา

แม้ว่าทั่วโลกมีการศึกษาในหัวข้อดังกล่าวนี้อยู่บ้าง แต่การศึกษาครั้งนี้มีความแตกต่าง เนื่องจากเป็นการเปรียบเทียบผลในการรับประทานอาหารแปรรูปสูงกับสุขภาพจิตโดยตรง และได้ศึกษาผู้เข้าร่วมการทดลองก่อนที่จะมีการแสดงผลสืบเนื่องมาจากโรคซึมเศร้า 

แต่อย่างใดก็ดี ยังพบข้อจำกัดบางประการในผลการศึกษาครั้งนี้ เนื่องจากไม่ได้ทดลองกับผู้ชายและผู้หญิงในกลุ่มเชื้อชาติอื่น (เฉพาะผู้หญิงผิวขาวเท่านั้น) รวมถึงไม่ได้ศึกษาถึงสาเหตุว่า ทำไมกลุ่มอาหารแปรรูปสูงจึงส่งผลต่อแนวโน้มการเกิดโรคซึมเศร้าได้ แต่ผลการทดลองดังกล่าวถือว่าสามารถนำไปต่อยอดศึกษาเชิงลึกได้เป็นอย่างดี

ว่าด้วยสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ลำไส้ และโรคซึมเศร้า

ซูซาน อัลเบอร์ส นักจิตวิทยาคลินิกที่ Cleveland Clinic กล่าวว่า “เราไม่ค่อยมีเรี่ยวแรงเมื่อรู้สึกหดหู่ จึงเป็นเรื่องง่ายที่จะคว้าอาหารเหล่านี้ เมื่อเราขาดแคลนพลังงานและปราศจากแรงจูงใจในการทำอาหารหรือออกไปซื้อของ แค่เปิดห่อก็พร้อมรับประทาน” 

รวมถึง ดร. แอนดรูว์ ชาน  หัวหน้าหน่วยงานระบาดวิทยาเชิงประยุกต์และคลินิก ที่โรงพยาบาล Massachusetts General Hospital ในบอสตัน สหรัฐอเมริกา ชี้แจงว่ามีข้อพิสูจน์บ่งชี้ว่าอาหารผ่านการแปรรูปสูงอาจรบกวนไมโครไบโอม (จุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในระบบทางเดินอาหาร) ในลำไส้ได้

คนที่รับประทานอาหารเหล่านี้จำนวนมากมักจะเกิดการกระตุ้นให้เกิดการอักเสบในลำไส้ได้ง่ายขึ้น อาจส่งให้ไมโครไบโอม (จุลินทรีย์ที่อาศัยในร่างกายของสิ่งมีชีวิต) ในลำไส้ปล่อยโมเลกุลที่ส่งผลต่อความเสี่ยงโรคซึมเศร้า ดร. แอนดรูว์ ชาน ย้ำ

ซูซาน อัลเบอร์ส ยังอธิบายถึงความเป็นไปได้เกี่ยวเนื่องกับสารให้ความหวานทดแทนน้ำตาล ซึ่งสารดังกล่าวพบในอาหารแปรรูปสูง และเป็นสาเหตุของกระบวนการ ‘Purinergic Transmission’ ในร่างกาย ที่ทำให้สมองปล่อยเคมี ATP (อะดีโนซีนไตรฟอสเฟต: adenosine triphosphate เป็นแหล่งพลังงานพร้อมใช้ในรูปของสารเคมีพลังงานสูงที่มีความสำคัญต่อกิจกรรมแทบทุกชนิดในเซลล์) ในปริมาณที่ไม่เหมาะสม เมื่อโมเลกุลของ ATP เพิ่มมากขึ้น จะทำให้เกิดการยับยั้งการผลิตฮอร์โมนโดพามิน และเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้เรารู้สึกสดชื่น มีความสุข เกี่ยวข้องอารมณ์ของมนุษย์โดยตรง และนี่อาจเป็นหนึ่งสาเหตุที่เชื่อมโยงอาหารแปรรูปสูงกับการเกิดโรคซึมเศร้า

แท้จริงแล้วอาจต้องมีการวิจัยทางคลินิกเชิงลึกมายืนยันเป็นมั่นเป็นเหมาะอีกเล็กน้อยในความสัมพันธ์ระหว่างโรคซึมเศร้าและอาหารแปรรูปสูง แต่การหลีกเลี่ยงอาหารดังกล่าวก็ส่งผลดีต่อสุขภาพกาย และทำได้ง่ายกว่าการเผชิญโรคซึมเศร้าที่เป็นปัญหาระยะยาวและจัดการได้ยากกว่า

Words: Varichviralya Srisai
ที่มา:

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม