Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

‘นิวเดลี’ เมืองมลพิษเบอร์ต้นของโลก สู้วิกฤตฝุ่นด้วย VERTO หอฟอกอากาศไซซ์ยักษ์

Art & Design / Culture

นี่ไม่ใช่ภาพโปรโมตภาพยนตร์ The Fog หมอกมรณะ แต่อย่างใด แต่นี่คือสภาพอากาศที่เต็มไปด้วยฝุ่นพิษของกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ที่ถึงจุดวิกฤตทางมลภาวะถึงขีดสุด

แม้ฝุ่น PM 2.5 ทําให้เราต้องหันมาสนใจเรื่องสิ่งเเวดล้อมมากขึ้น เเต่สถานการณ์ที่เราได้พบเจอนั้นยังเทียบไม่ได้กับสถานการณ์ของกรุงนิวเดลี ประเทศอินเดีย ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดอันดับต้นๆ ของโลก ประชากรต้องทุกข์ทนกับมลพิษทางอากาศที่สูงเกินค่ามาตรฐานของ WHO มากถึง 25 เท่า

Studio Symbiosis สตูดิโอออกแบบจึงเสนอไอเดียให้สร้างหอฟอกอากาศ Verto ดีไซน์สุดล้ำ ความสูง 5.5 เมตร ดูคล้ายกับต้นไม้ใหญ่ เพื่อลดปัญหามลพิษ และเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ให้เมืองหลวง

หอฟอกอากาศ Verto คือผลงานต้นแบบที่ออกแบบมาเพื่อหวังเเก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ซึ่งเป็นภัยเงียบที่คุกคามสุขภาพของชาวนิวเดลี ที่มาของ Verto มาจากรากศัพท์ภาษาละติน ‘vertente’ หรือคำว่า ‘turn’ ในภาษาอังกฤษนั่นเอง ด้วยมุ่งหวังในการเปลี่ยนมลพิษให้เป็นอากาศดี

ส่วนหลักการทำงานของ Verto ถูกปรับเปลี่ยนมาจากเครื่องฟอกอากาศภายในบ้าน เเต่ถูกปรับให้มีขนาดใหญ่เเละทรงพลังมากขึ้น โดยภายในมีระบบฟิลเตอร์ซึ่งติดตั้งพัดลมประหยัดพลังงานไว้คอยทำหน้าที่ดึงอากาศจากล่างขึ้นสู่บน ผ่านช่องเปิดรอบทิศทางที่ออกแบบให้เป็นโมดูลาร์ขนาดต่างกัน โดยช่องเปิดเหล่านี้รวมทั้งรูปทรงกรวยบิดของ Verto จะทำหน้าที่เพิ่มพื้นที่รับอากาศ ดูดอนุภาคฝุ่นเข้ามาเพื่อฟอกและปล่อยกลับออกไปเป็นอากาศที่ดีกว่าเดิม

ประสิทธิภาพของเจ้า Verto นั้น ทาง Studio Symbiosis ผู้ออกแบบเคลมว่าสามารถกรองอากาศได้มากถึง 600,000 ลูกบาศก์เมตร/วัน! อีกทั้งยังสามารถปล่อยอากาศบริสุทธิ์ได้ในรัศมี 200-500 เมตรในระยะใกล้ ส่วนพื้นที่กลางแจ้งจะลดประสิทธิภาพลดหลั่นกันไปในรัศมี 100-350 เมตร ทั้งหมดนี้ขึ้นอยู่กับความเร็วลมและภาวะแวดล้อมอื่นๆ โดยรวม

สำหรับ Verto ในวันนี้ยังคงเป็นแค่โครงการทดลองที่ได้รับการติดตั้งไว้ในสวนสาธารณะ เพื่อชี้วัดความคุ้มค่าของวิธีการทำงานของเจ้าหอฟอกอากาศนี้ว่า จะสามารถช่วยปล่อยอากาศดีให้แก่ชาวเมืองได้มากเพียงพอหรือไม่

โดย Verto เครื่องแรกได้แลนดิ้ง ณ สวน Sunder Nursery กรุงนิวเดลี เมื่อเดือนสิงหาคมปีที่ผ่านมา ทั้งนี้ทาง Studio Symbiosis ได้เผยว่าโครงการต้นแบบนี้รับความสนใจจากผู้ผลิตจากหลายประเทศทั่วโลก ทั้งอุซเบกิสถาน ฝรั่งเศส และนิวซีแลนด์

ต้องจับตาดูกันต่อไปว่านวัตกรรมหอกรองอากาศจะช่วยแก้วิกฤตฝุ่นพิษได้ดีเพียงใด แต่ขอมาลงเมืองไทยบ้างสักจังหวัดละหลายๆหอหน่อยเหอะ

Words: Ayu Kulahathai
ข้อมูลจาก:

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม