‘ศิลปะ’ และ ‘แฟชั่น’ นั้นเป็นสองศาสตร์บนโลกใบนี้ที่แสดงถึงวิวัฒนาการและความคิดสร้างสรรค์อันไม่สิ้นสุดของมนุษย์ ซึ่งทั้งสองศาสตร์นี้ตอบโจทย์ธีม #ARTANDDESIGN ของ LIPS ในเดือนนี้มากๆ ถึงกระนั้นสองศาสตร์นี้ถูกสร้างสรรค์ขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงและมีปัจจัยในการผลิตที่แตกต่างกันมากๆ เป็นเพราะศิลปะนั้นสามารถสร้างสรรค์ขึ้นโดยปราศจากข้อจำกัดใดๆ แต่แฟชั่นนั้นถึงจะหลุดโลกหรือวิจิตรแค่ไหนก็ต้องตอบโจทย์คำว่า ‘เครื่องนุ่งห่ม’ หนึ่งในปัจจัยสี่ของที่มีหน้าที่ปกป้องและประดับเรือนร่างของมนุษย์
แต่ในปัจจุบันทั้งสองกลับมีความสอดคล้องกันอย่างคาดไม่ถึงโดยเฉพาะแฟชั่นที่มักจะถูกมองเป็นศิลปะที่สามารถสวมใส่ได้ไม่ต่างจากงานศิลป์ในแขนงอื่นๆ เลย เพราะว่าเหล่านักออกแบบแฟชั่นมักจะหยิบยกชิ้นงานและเรื่องราวที่เกี่ยวข้องศิลปะมาใช้ในการออกแบบเสื้อผ้าเพื่อยกระดับงานออกแบบแฟชั่นสุดสร้างสรรค์ของพวกเขา ทำให้ในวงการแฟชั่นตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันเราจะได้กลิ่นอายของศิลปะแขนงต่างๆ วิ่งเล่นกันอยู่เต็มรันเวย์
โดยเฉพาะในปัจจุบันที่การ ‘คอลแลบอเรชั่น’ ได้กลายเป็นหนึ่งในเครื่องมือทางการตลาดของอุตสาหกรรมแฟชั่นเพื่อเพิ่มยอดขายให้กับแบรนด์แฟชั่นต่างๆ ทำให้เราได้เห็นเหล่าแฟชั่นดีไซเนอร์และแบรนด์แฟชั่นกระโดดข้ามไปทำงานแบรนด์ในแวดวงต่างๆ รวมถึงศิลปินระดับโลกหน้าใหม่ไฟแรงและศิลปินชั้นครูในแวดวงศิลปะ วันนี้ LIPS เลยรวบรวมผลงานแฟชั่นอันโดดเด่นที่ผสานเข้ากับงานศิลปะระดับมาสเตอร์พีซได้อย่างลงตัว จนกลายเป็นผลงานการออกแบบแฟชั่นชิ้นโบแต่งที่สร้างความน่าสนใจให้กับวงการแฟชั่นได้จนถึงทุกวันนี้
Elsa Schiaparelli X Salvador Dali
งานคอลแลบชิ้นแรกๆ ที่ผสมผสานระหว่างชิ้นงานแฟชั่นกับงานศิลปะเข้าด้วยกัน จนกลายเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซในวงการแฟชั่นเลย อย่างการร่วมมือกันของดีไซเนอร์ชั้นครูอย่าง ‘Elsa Schiaparelli’ กับศิลปินชื่อดังจากลัทธิเหนือจริง (Surrealism) อย่าง ‘Salvador Dali’ การร่วมงานกันของทั้งสองนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกสักเท่าไหร่เพราะ Elsa กับ Salvador นั้นมีความสัมพันธ์ฉันเพื่อน
ส่งผลให้ Elsa นั้นได้รับอิทธิพลหลายๆ อย่างมากจากศิลปะลัทธินี้จนเธอกลายเป็นดีไซเนอร์สาย Surrealism คนแรกๆ ของวงการแฟชั่นที่โด่งดังไปทั่วโลก ผลงานคอลแลบอันโด่งดังของทั้งสองอย่าง ‘The Lobster Dress’ หรือเดรสผ้าออแกนซ่าสีขาวพิมพ์ลายกุ้งลอบสเตอร์กลายเป็นแรงบันดาลใจของแฟชั่นดีไซเนอร์ยุคใหม่หลายๆ คน โดยนำเอาภาพวาดกุ้งล๊อบสเอตร์ชื่อดังของ Salvador มาเป็นส่วนหนึ่งของชุดนี้ ทำให้ชุดนี้ขึ้นหิ้งกลายเป็นชุดสุดไอคอนิคต้นแบบงานคอลแลบแฟชั่นกับศิลปะของนักออกแบบแฟชั่นหลายๆ คน
Yves Saint Laurent X Piet Mondrian and Vincent Van Gogh
‘Mondrian Dress’ ของ ‘Yves Saint Laurent’ เป็นอีกหนึ่งผลงานการออกแบบชั้นครูที่หลายๆ คนยกให้เป็นไอคอนิคเดรสของยุค 60s เป็นเพราะ Yves Saint Laurent เป็นอีกหนึ่งแฟชั่นดีไซเนอร์ที่ชอบนำเอาแรงบันดาลใจจากศิลปะมารังสรรค์เป็นผลงานแฟชั่น ซึ่งชุดนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผลงานชื่อดังของศิลปินชั้นครูของศิลปะสไตล์ Abstract Art อย่าง ‘Piet Mondrian’ โดยถูกจับมาลงในซิลูเอ็ตต์แฟชั่นอันเป็นสัญลักษณ์ของยุค 60s อย่าง A-Line Dress
อีกหนึ่งคอลแลบโดยฝีมือ Yves Saint Laurent ก็คงจะหนีไม่พ้นการร่วมมือกับศิลปินสไตล์ Post-Impressionism หนึ่งในจิตรกรที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลมากที่สุดคนหนึ่งในประวัติศาสตร์ศิลปะ โดยในคอลเลคชั่น Spring/Summer 1988 ที่ภาพวาดสองภาพอันมีชื่อเสียงของเขา 2 ภาพอย่าง ‘Sunflowers’ และ ‘Irises’ ถูกถ่ายทอดลงบนแจ็คเก็ตเสริมไหล่สไตล์ 80s เป็นชิ้นงานที่ตอกย้ำความหลงใหลในงานศิลป์ของ Yves Saint Laurent ได้เป็นอย่างดี
Versace X Andy Warhol
กระโดดมาที่เฮ้าส์แฟชั่นสุดยั่วบดของอิตาลีอย่าง ‘Versace’ กันบ้างเพราะแบรนด์แฟชั่นชื่อดังแบรนด์นี้ก็เป็นแบรนด์ที่อินกับศิลปะมากๆ ยกตัวอย่างเช่น ‘ลายบาโรก’ ลายพิมพ์สุดไอคอนิคของแบรนด์ที่ได้รับอิทธิพลจากศิลปะบาโรกมาเต็มๆ ซึ่งแสดงให้เห็นถึง DNA ความเว่อวังและจัดเต็มของบ้านนี้ได้เป็นอย่างดี แต่นอกจากนั้นแล้ว ‘Gianni Versace’ ดีไซเนอร์ผู้ล่วงลับและผู้ก่อตั้งแบรนด์นี้ยังอินกับศิลปะแบบ Pop Art อีกด้วย
ถึงขนาดนำผลงานศิลปะของ Andy Warhol ศิลปินสไตล์ Pop Art ชื่อดังผู้เปรียบเสมือนตัวแทนของลัทธิศิลปะสีสันโดดเด่นนี้ มาใช้ในคอลเลคชั่น Spring/Summer 1991 โดยถูกนำเสนอผ่านเดรสและบอดี้สูทสุดยั่วยวนตามสไตล์ Versace โดยมีลายพิมพ์เป็นใบหน้าของศิลปินชื่อดังและผลงานศิลปะของ Andy จนกลายเป็นหนึ่งในคอลเลคชั่นที่เป็นภาพจำของแบรนด์จนในปี 2018 Donnatella Versace น้องสาวของ Gianni ผู้กุมบังเหียนแบรนด์ในตอนนี้ต้องนำมาปัดฝุ่นใหม่ให้ดูทันสมัยมากขึ้น
Louis Vuitton X Takashi Murakami and Yayoi Kusama
‘Louis Vuitton’ แบรนด์หรูสัญชาติฝรั่งเศสที่มีจุดเด่นคือ ‘กระเป๋าแคนวาส’ กระเป๋าสุดโด่งดังของแบรนด์ซึ่งมีลายโมโนแกรมสุดไอคอนิคอย่าง LV Monogram ประทับอยู่เพื่อบอกว่ากระเป๋านี้เป็นของแบรนด์อะไร สำหรับใครที่ไม่รู้แต่ก่อนแบรนด์นี้ไม่มีคอลเลคชั่นเสื้อผ้าเหมือนปัจจุบันนะ จนในปี 1997 ดีไซเนอร์ดาวค้างฟ้าอย่าง ‘Marc Jacobs’ เข้ามาเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนแรกของแบรนด์พร้อมสร้างสรรค์งานออกแบบแฟชั่นคู่ไปกับคอลเลคชั่นกระเป๋าอันเก่าแก่ของแบรนด์ แต่ที่กลายเป็นกระแสและฮิตไปทั่วโลกก็คงหนีไม่พ้นการคอลแลบกับศิลปินร่วมสมัยชาวญี่ปุ่นอย่าง ‘Takashi Murakami’ โดยนำเอาลาย LV Monogram สีน้ำตาลสุดคลาสสิคมาใส่สีหลากสีสันสร้างความนิยมให้กับแบรนด์เป็นอย่างมาก หลังจากนั้นทั้งสองยังคงได้ร่วมงานกันอีกหลายครั้งและคงความนิยมอย่างต่อเนื่องจนเลิกผลิตไปในปี 2015
คอลแลบที่สองนี้แสดงให้เห็นถึงความอินในศิลปะญี่ปุ่นของ Marc มากนั่นก็คือ Louis Vuitton x Yayio Kusama ศิลปินชาวญี่ปุ่นผู้หลงใหลในลาย Polka Dot จนนำเอาลายสุดคลาสสิคนี้มาตีความใหม่ในรูปแบบต่างๆ แต่ที่เราคุ้นตากันคงจะเป็นลายจุดสีแดงหลากขนาดบนพื้นหลังสีขาว ซึ่งในปี 2012 นั้น Marc ได้ดึงงานของ Yayoi มาสร้างสรรค์เป็นแคปซูลคอลเลคชั่นสุดไอคอนิคในหมู่สายแฟจนทำให้ Yayoi นั้นโด่งดังไปทั่วโลก
และล่าสุดในคอลเลคชั่น Cruise 2023 ครีเอทีฟไดเร็กเตอร์คนปัจจุบันของ Louis Vuitton ได้ดึงเอาลาย Polka Dot นั้นกลับมาใช้อีกครั้งหนึ่งในคอลเลคชั่นนี้ที่ดู Modern และ Futuristic แบบที่ไม่เคยเป็นมาก่อน
Dior Homme X Kaws and Hajime Sorayama
อีกหนึ่งเจ้าพ่อแห่งการคอลแลบของวงการแฟชั่นในยุคนี้เราคงต้องมอบมงให้ ‘Kim Jones’ อย่างสงสัยไม่ได้ เพราะว่าตั้งแต่เขาเป็นครีเอทีฟไดเร็กเตอรือยู่ที่ Louis Vuitton ก็ได้นำเอาแบรนด์สเก็ตบอร์ดสุดคูลอย่าง Supreme มาคอลแลบจน Break the Internet กลายเป็นไอเท็มแฟชั่นสุดไอคอนราคารีเซลสูงลิ่ว นั่นอาจเป็นเหตุผลที่ LVMH ย้าย Kim มาอยู่ Dior Homme เพื่อลบภาพหนุ่มสไตล์ร็อคแอนด์โรลของ Hedi Slimane ทิ้งไป
เมื่อเขาย้ายมาอยู่ Dior Homme เขาก็ยังคงเส้นคงวาด้วยการเดบิวต์คอลเลคชั่นแรกอย่าง Spring/Summer 2019 ด้วยการดึงศิลปินร่วมสมัยอย่าง Kaws มาทำไอเท็มชิ้นพิเศษ พร้อมกับตัวละคร BFF ที่ถูกเซตขึ้นด้วยดอกไม้กลายเป็นหุ่นขนาดยักษ์กลางรันเวย์ในคอลเลคชั่นแรกของเขาด้วย ในคอลเลคชั่นต่อมาอย่าง Pre-Fall 2019 เขาตอกย้ำเจ้าพ่องานคอลแลบด้วยการดึงศิลปินชาวญี่ปุ่นอย่าง Hajime Sorayama มาช่วยสร้างเซตอัพรันเวย์ รวมถึงครีเอตกระเป๋า It Bag อย่าง Saddle Bag ในแบบฉบับ Dior Homme และสไตล์แบบ Cyber Punk ซึ่งมีราคาเฉียดร้าน
Raf Simons X Robert Mapplethorpe
‘Raf Simons’ อีกหนึ่งแฟชั่นดีไซเนอร์ของยุคนี้เป็นนักออกแบบแฟชั่นที่ไม่ได้จบการออกแบบแฟชั่นมาแต่เขาเรียนจบด้านออกแบบอุตสาหกรรมและการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ ทำให้เขานั้นอินกับงานศิลปะหลายๆ แขนงซึ่งเราสามารถเห็นได้ผ่านงานออกแบบของเขาตั้งแต่ Jil Sander, Dior, Calvin Klein และ Prada
แต่ที่ชัดและตะโกนที่สุดก็คงเป็นคอลเลคชั่นเสื้อผ้าของเขาเองอย่างแบรนด์ Raf Simons ที่เขาหยิบเอาแรงบันดาลใจจากภาพถ่ายสุดอาร์ตของ ‘Robert Mapplethorpe’ ช่างภาพชาวอเมริกันที่มีจุดเด่นคือสไตล์ภาพขาวดำสุดเท่ ซึ่งในคราวนี้มันชัดเจนสุดๆ ไม่ได้มาเพียงแค่กลิ่นเหมือนแบรนด์ที่เรากล่าวไปเพราะเขาหยิบภาพถ่าย Portrait ขาวดำของ Robert มาใส่ลงในเสื้อผ้าสุดโมเดิร์นของแบรนด์ Raf Simons ซึ่งกลายเป็นที่ต้องการของหนุ่มๆ สายแฟมากๆ จนแบรนด์แฟชั่นรวดเร็วหลายๆ แบรนด์หยิบเอารูปถ่าย Portriat มาใส่ลงบนเสื้อผ้าเพื่อตามเทรนด์ที่ Raf สร้างขึ้นเลย
Prada X Miles El Mac MacGregor, Mesa, Gabriel Specter, Stinkfish, Jeanne Detallante and Pierre Mornet
‘Miuccia Prada’ เป็นแฟชั่นดีไซเนอร์หัวก้าวหน้าที่หยิบเอาแรงบันดาลใจมาจากหลายๆ อย่างรอบตัวของเธอมาประกอบสร้างกลายเป็นคอลเลคชั่นเสื้อผ้าสุดว้าวที่สายแฟยกย่องให้เป็นแบรนด์ที่มีคอลเลคชั่นที่สวยและงดงามในเกือบทุกซีซั่น โดยเฉพาะในคอลเลคชั่น Spring/Summer 2014 ที่ชื่อว่า “In the Heart of the Multitude” ที่นอกจากจะสวยงามตามบริบทของแบรนด์แล้วยังแฝงไปด้วยความหมายในเชิงบวกต่อผู้หญิง
เพราะว่าในคอลเลคชั่นนี้ Miuccia ได้เชิญนักจิตรกรรมฝาผนังอย่าง El Mac MacGregor, Mesa, Gabriel Specter และ Stinkfish และเชิญนักวาดภาพประกอบอย่าง Jeanne Detallante และ Pierre Mornet มาร่วมครีเอตมาลวดลายและเพ้นท์ผนังของแคตวอล์คให้กลายเป็นรูปภาพของผู้หญิง Prada ในสไตล์ที่แตกต่างกัน นอกจากนั้นลายภาพประกอบเหล่านั้นถูกถ่ายทอดลงบนเสื้อผ้าและเครื่องประดับในคอลเลคชั่นนี้จนกลายเป็นอีกหนึ่งคอลเลคชั่นสุดไอคอนิคของ Prada เลยก็ว่าได้