Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

When The New Generation Changes Definition of Marriage

มุมมองของคนรุ่นใหม่ที่เปลี่ยนไปต่อการแต่งงาน
Beauty / Wellness & Aesthetic

ไม่แปลกเลยที่คนรุ่นใหม่โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลมีมุมมองเรื่องความรักและการแต่งงานเปลี่ยนไป ทำให้มุมมองต่อการแต่งงานในยุคนี้ได้ถูกให้ความหมายใหม่ด้วยหลายๆ องค์ประกอบ โดยเฉพาะสำหรับชาวมิลเลนเนียลจำนวนมากที่ตกอยู่ในสถานการณ์การหย่าร้างของพ่อแม่ ทำให้พวกเขานั้นใช้เวลามากขึ้นในการมองหาคู่ครองที่เหมาะสมก่อนจะตกลงกันไปจดทะเบียนสมรส 

คู่รักชาวมิลเลนเนียลหลายคู่อยู่กินกันก่อนแต่งงานและจด ‘สัญญาก่อนสมรส’ เพื่อปกป้องทรัพย์สินก่อนแต่งงานของตน ซึ่งสาเหตุเหล่านี้เองทำให้คู่รักชาวมิลเลนเนียลมีอัตราการหย่าร้างลดลงกว่าคนรุ่นก่อน และอีกสาเหตุที่คนรุ่นใหม่ชะลอการแต่งงานของตนเนื่องด้วยผลกระทบจากพิษทางเศรษฐกิจที่ทำให้คู่รักหลายคู่เผชิญกับปัญหาทางการเงิน เพราะว่าในปัจจุบันนั้นค่าใช้จ่ายในงานแต่งงานมีจำนวนสูงมาก โดยเฉพาะคู่รักที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมและศาสนาที่แตกต่างกัน 

นอกจากนั้นอัตราการแต่งงานของชาวมิลเลนเนียลและคนรุ่นใหม่นั้นก็มีจำนวนที่ลดลงเป็นอย่างมาก เพราะแนวคิด วิถีชีวิต และการเปลี่ยนแปลงของสังคมหลายๆ อย่างที่ทำให้คนรุ่นใหม่นั้นเลือกจะครองโสดหรืออยู่กินกันฉันท์คู่รักโดยจดทะเบียนสมรส วันนี้ LIPS เลยจะพาทุกคนไปดูกันว่ามุมมองต่อการแต่งงานสำหรับคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลที่อยู่ในช่วงอายุที่เหมาะสมสำหรับการแต่งงานนั้นเปลี่ยนไปอย่างไร และมันสอดคล้องกับธีม #NEWWEDDING อย่างไร?

มองการหย่าร้างเป็นเรื่องร้ายแรง

คนรุ่นใหม่จำนวนมากเคยผ่านประสบการณ์การหย่าร้างของพ่อแม่ทำให้พวกเขามีมุมมองด้านลบต่อการหย่าร้างที่ได้สร้างบาดแผลในจิตใจของพวกไว้ ทำให้คนรุ่นใหม่จำนวนมากโดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลได้พยามยามลดอัตราการหย่าล้างให้มีจำนวนน้อยลง มีการรายงานจากผู้เชี่ยวชาญในนิตยสาร Comopolitan ว่าอัตราการหย่าร้างในสหรัฐอเมริกานั้นลดลงถึง 24% นับตั้งแต่ช่วงปี 1980 

จากสาเหตุการหย่าร้างที่เรากล่าวไปข้างต้นคนรุ่นใหม่หลายๆ คนกลัวการเลิกราและใช้เวลาที่มากขึ้นในการหาคู่ครองที่เหมาะสม เพื่อหลีกเลี่ยงสภาวะการแต่งงานที่ไม่มั่นคงที่อาจจะก่อให้เกิดการหย่าร้างตามมา นอกจากนั้นพวกเขายังใช้เวลาในการดำเนินกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเงินรวมกันก่อนเพื่อลดความตึงเครียดในฐานะคู่สมรสของพวกเขา เช่น การทำงานร่วมกัน หรือแม้แต่การชำระหนี้กู้ยืมเพื่อการศึกษา ซึ่งสถานะทางการเงินที่ไม่สั่นคลอนนี้เองสามารถส่งผลต่อความสัมพันธ์ของคู่สมรสได้อย่างไม่น่าเชื่อ

แต่งงานเมื่อพร้อม!

การใช้เวลามากขึ้นในการหาคู่ครองที่เหมาะสมและให้ความสำคัญกับความสำเร็จทางสถานะทางการเงินที่เรากล่าวไปนั้น ทำให้คนรุ่นใหม่แต่งงานกันช้าลงเมื่อเทียบกับคนเจนเนอเรชั่นก่อนๆ เราขอยกตัวอย่างเพื่อให้เห็นภาพชัดด้วยอายุเฉลี่ยของการแต่งงานครั้งแรกในสหรัฐฯ สำหรับผู้หญิงคือ 27 ปี และสำหรับผู้ชายคือ 29 ปี ตามข้อมูลของนักสำรวจสำมะโนประชากรของสหรัฐฯ 

นอกจากนั้นอีกสาเหตุที่ทำให้คู่รักเจนฯ ใหม่นั้นแต่งงานกันช้าขึ้นก็เพราะว่าบรรดาคู่รักในยุคนี้ต่างรอคอยในความสัมพันธ์ของพวกเขาเป็นเวลานานก่อนที่จะแต่งงานกัน (เรียกง่ายๆ ว่า ‘ดูใจ’ นั่นแหละ) โดยมีผลสำรวจรายงานว่าพวกเขาใช้เวลา 4.9 ปีโดยประมาณในการคบกันเพื่อดูใจก่อนที่จะแต่งงาน โดยผลการสำรวจนี้มาจากบริษัท Bridebook บริษัทจัดงานแต่งงานในสหราชอาณาจักร 

อยู่ก่อนแต่งไม่ใช่เรื่องผิด

แม้ในประเทศไทยจะมีการถกเถียงกันเป็นจำนวนมากว่า ‘อยู่ก่อนแต่ง’ หรือ ‘แต่งก่อนอยู่’ ดีกว่ากัน แต่ในต่างประเทศมีคู่รักจำนวนมากอาศัยอยู่ด้วยกันก่อนแต่งงานมากขึ้นถึง 6 เท่าจากรุ่นพ่อแม่ของพวกเขา ซึ่งส่งผลให้อัตราการหย่าร้างลดลงเป็นจำนวนมาก และมีผลการศึกษาที่ถูกตีพิมพ์ในนิตยสาร ‘Marriage and Family’ เมื่อปี 2007 กล่าวว่าการอยู่ก่อนแต่งนั้นได้กลายเป็น “ส่วนหนึ่งของเส้นทางสู่การแต่งงาน” 

และแนวคิดอันยอดเยี่ยมนี้เองทำให้คู่รักบางคู่ซื้อบ้านด้วยกันก่อนที่จะหมั้นหมายหรือจดทะเบียนสมรส โดยให้ความสำคัญกับการเป็น ‘เจ้าของบ้าน’ มากกว่าคู่สมรสเพื่อดำเนินชีวิตคู่อย่างยั่งยืน และแนวคิดนี้เองสะท้อนให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของทัศนคิตที่มีต่อการแต่งงานของคนรุ่นใหม่ที่มีแตกต่างไปจากคนรุ่นก่อนอย่างเห็นได้ชัด นอกจากนั้นด้วยสภาวะเศรษฐกิจที่ไม่คงที่ทำให้ ‘การลองใช้ชีวิตอยู่ด้วยกัน’ นั้นตอบโจทย์สถานะทางการเงินของคู่รักยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี 

เมื่อการแต่งงานไม่ใช่คำตอบเสมอไป

แม้คู่รักหลายคู่มีจุดหมายของความสัมพันธ์ฉันท์คู่รักคือการแต่งงานเพื่อยกระดับความสัมพันธ์ของพวกเขาให้กลายเป็นคู่สามีภรรยา แต่คู่รักชาวมิลเลนเนียลและคนรุ่นใหม่หลายๆ คู่ไม่ได้ลงเอยด้วยการแต่งงาน โดยมีการรายงานว่าชาวมิลเลนเนียลกว่า 25% ที่ไม่ได้แต่งงาน ซึ่งอัตราการแต่งงานที่ลดลงเกิดจากการที่ชาวมิลเลนเนียลนั้นมองว่าการแต่งงานนั้นไม่ได้มีสลักสำคัญเหมือนคนยุคก่อน 

ทำให้อัตราการแต่งงานของประชาชนชาวอเมริกันนั้นลดลงจาก 72% ในปี 1960 เหลือเพียงประมาณ 35% ในปี 2017 โดยมีบทความของ David Dorn นักเศรษฐศาสตร์จาก University of Zurich มาสนับสนุนอัตราการแต่งงานที่ลดลงนี้ โดยกล่าวว่าการแต่งงานที่ลดลงนั้นได้รับผลกระทบจากบทบาททางเพศแบบดังเดิมและแรงขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่ทำให้ผู้ชายนั้นดึงดูดคู่ครองน้อยลง การลดลงของงานบางสายงานและผลประโยชน์จากงานเหล่านั้นทำให้ผู้ชายมีเสน่ห์ลดลงในฐานะสามี 

ข้อตกลงที่ลดความเสี่ยงระหว่างคู่สมรส  

คนยุคใหม่จำนวนมากหันมาเซ็น ‘สัญญาก่อนสมรส’ ก่อนที่พวกเขาจะแต่งงานกัน ข้อตกลงก่อนสมรสนี้กำหนดสร้างความแน่นอนในการแบ่งทรัพย์สินและกิจกรรมการเงินต่างๆ ในกรณีที่คู่สมรสมีการหย่าร้างกันซึ่งในอดีตมักเกี่ยวข้องกับคู่รักที่ร่ำรวย แต่ในปัจจุบันข้อตกลงนี้ได้กลายมาเป็นที่นิยมมากขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลกโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่เพื่อสร้างความเป็นธรรมในการแบ่งทรัพย์สินระหว่างคู่รักที่หย่ากัน 

โดยมีรายงานจาก American Academy of Matrimonial Lawyers ว่าพวกเขาเห็นการเพิ่มขึ้นของการจดสัญญาก่อนสมรสในหมู่ชาวมิลเลนเนียล โดยเฉพาะระหว่างปี 2013 ถึงปี 2016 ที่พบว่ากว่ามีการเพิ่มขึ้นของการจดสัญญานี้ถึง 62% แสดงให้เห็นว่าคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลกลัวการหย่าร้างรวมถึงการแต่งงานหลายครั้ง และหลายคนนั้นชอบที่จะปกป้องสิทธิและผลประโยชน์ของตนโดยเฉพาะเรื่องเงินๆ ทองๆ ที่พวกเขานั้นหาได้ก่อนที่จะแต่งงาน 

จัดงานแต่งแบบใหม่ที่ฉีกขนบเดิมๆ

เมื่อคู่รักยุคใหม่คิดจะแต่งงานกันพวกเขามักจะทำสิ่งที่แตกต่างไปจากขนบเดิมๆ โดยละทิ้งงานแต่งงานแบบดั้งเดิมโดยเลือกสถานที่ที่แปลกใหม่ เช่น โรงนา ฟาร์ม ริมทะเล สวนพฤกษศาสตร์แทนที่จะเป็นห้องจัดเลี้ยงหรือห้องรับรองในโรงแรม เพราะพวกเขาใช้เวลาค่อนข้างนานกว่าจะแต่งงานและหลายคู่รักนั้นได้อยู่กินกันก่อน คนยุคใหม่จึงมีเวลาเรียนรู้ความชื่นชอบของกันและกัน อีกทั้งพวกเขายังมีเวลาในการสะสมของใช้และของตกแต่งต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในงานแต่งของพวกเขาเอง 

นอกจากนั้น ‘เงินสด’ ก็ได้กลายมาเป็นตัวเลือกของขวัญงานแต่งชั้นดีที่ได้รับความนิยมมากกว่าสิ่งของต่างๆ โดยเฉพาะในต่างประเทศที่นิยมให้ของใช้ในครัวเรือนอย่างเช่น เครื่องปิ้งขนมปัง ชุดจานชาม เพื่อเป็นทุนให้คู่รักได้ออกไปดื่มน้ำผึ้งพระจันทร์ในสถานที่ที่พวกเขาวางจุดหมายเอาไว้ 

และนี่ก็คือมุมมองใหม่ๆ ของคู่รักยุคใหม่ที่ใกล้เคียงกับธีม #NEWWEDDING ของ LIPS Magazine มาก โดยเฉพาะชาวมิลเลนเนียลที่สลัดเอาความฉาบฉวยและชุดความคิดเก่าๆ ของคนยุคก่อนที่จะส่งผลให้เกิดการหย่าร้างออกไป หลายๆ แนวคิดเกิดขึ้นมาเพื่อสร้างความสัมพันธ์ฉันสามีภรรยาให้ยืนยาวและใกล้เคียงกับคำว่า ‘ความสัมพันธ์ในอุดมคติ’ มากที่สุด

#NEWWEDDING

#LIPSERA

#LIPSMAGAZINE

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม