ฝาขวด หลอดพลาสติก กระป๋องน้ำอัดลม หรือแม้แต่เสื้อชูชีพ ของเหล่านี้เมื่อปลดระวางการใช้งานก็กลายเป็นขยะ แต่ในสายตาของ เอ๋-วิชชุลดา ปัณฑรานุวงศ์ ทุกสิ่งอันที่ทุกคนมองข้ามคือต้นธารความคิดสร้างสรรค์ชั้นดีที่ทำให้เธอยึดอาชีพศิลปินผู้เปลี่ยนขยะให้เป็นศิลปะขนาด 3 เมตรไปจนถึงเป็นแฟชั่นไอเท็มอย่างกระเป๋าขนาดเท่าฝ่ามือ
โตมาในครอบครัวที่ดัดแปลงของเหลือใช้ให้เป็นของที่ใช้งานได้อีกครั้ง ดังที่เอ๋เล่าให้ฟังว่า “เราเป็นบ้านที่เก็บขวดเฮลส์บลูบอยเอาไว้ใส่น้ำดื่ม เอาแก้วโยเกิร์ตมาใส่กุ้ง ใส่หมูสับ หรือเลาะฝาด้านบนกระป๋องโค้กออก ทำเป็นแก้วน้ำที่เก็บความเย็นได้ดี เรามีแนวคิดแบบนี้กันทั้งบ้าน”
แต่เมื่อเอ๋เลือกเรียนสายศิลปะ มิหนำซ้ำยังเอาขยะมาสร้างผลงาน ครอบครัวแม้มิได้คัดค้าน หากปล่อยให้เอ๋เรียนไปตามใจปรารถนา ทว่าจะดีกว่ามากถ้าเรียนจบแล้วบัณฑิตศิลปะจะเข้าทำงานที่…การประปา “เขาเป็นห่วง อยากเห็นเราทำอาชีพที่มั่นคง” เอ๋เล่าสบายๆ แต่วันนี้ที่เอ๋มีบ้านหลังที่สองเป็นสตูดิโอที่มีหลอดพลาสติกสารพัดสี ฝาขวดโลหะและเศษไม้วางแยกประเภทสูงจากพื้นจรดเพดานมานาน 10 ปีแล้ว จึงนับได้ว่าครอบครัวเห็นชอบไปโดยปริยาย
“เราชอบเรื่องวัสดุมาตั้งแต่เรียน เห็นศิลปินต่างชาติเอาวัสดุต่างๆมาทำงาน ซึ่งไม่ใช่วัสดุเหลือใช้ เช่น เหล็ก ไม้ แก้ว อะไรต่อมิอะไรมาทำเป็นงานศิลปะ ซึ่งเรามองว่าสนุกดี ไม่จำเจอย่างเวลาวาดด้วยสี เราเรียนเอกเพ้นต์แต่ขออาจารย์ทำงานสื่อผสม เราเห็นวัสดุแล้วไม่ได้มองว่าเป็นขยะ แต่มองว่ามันแปลงร่างเป็นสิ่งต่างๆได้” เอ๋เล่า “พ่อแม่เป็นห่วงเรามาก แต่เราก็ยิ่งตั้งใจว่าจะสิ่งที่ชอบให้เป็นอาชีพให้ได้ ให้รู้ไปเลยว่าคนเราสามารถทำสิ่งที่ชอบและประสบความสำเร็จได้”
“เจอบ่อยที่คนบอกว่า ทำงานกับขยะแล้วยังไง มันก็กลายเป็นขยะอีกก้อน”
LIPS: เมื่อ 10 ปีก่อนในเมืองไทยมีการพูดเรื่องความยั่งยืนกันแล้วหรือ
วิชชุลดา: ไม่มี มีแต่พูดเรื่องรีไซเคิล เรารู้สึกว่าน่าสนใจเลยเอามาทำในสิ่งที่คิด ตอนแรกเราคิดในมุมมองของตัวเองว่าศิลปะจากขยะรีไซเคิลน่าจะเป็นแบบนี้ คือเอาขยะมาทำงานศิลปะแล้วจบ แต่พอเริ่มอ่านหนังสือ ดูข่าวและปรับจากคำพูดคนที่พูดว่า การทำงานศิลปะก็เหมือนสร้างขยะเพิ่มขึ้นมาอีก แล้วจะทำอย่างไรไม่ให้งานศิลปะกลายเป็นขยะอีกก้อน เราเริ่มคิดตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงเป็นชิ้นงาน มีนักสะสมมาซื้อผลงานไปเก็บสะสม เราต้องมีแนวคิดในใจว่าถ้าเขาซื้อไปแล้ว วันหนึ่งงานเสื่อมสภาพไปแล้วมันจะไปต่ออย่างไรได้อีก แรกๆเราติดกับการย้อมสี ทาสี แต่ตอนนี้เราไม่ทาสีแล้ว แต่ใช้สีของวัสดุไปเลยเพื่อจะนำไปรีไซเคิลหรือนำกลับมาใช้ใหม่ได้ทั้งหมด
LIPS: สไตล์การทำงานของคุณคืออะไร
วิชชุลดา: ต้องถามคนที่เห็นว่าเห็นอะไร แต่ถ้าให้เรามอง เราชอบใช้วัสดุต่างขั้วกันที่ไม่น่าจะมาอยู่ด้วยกันได้
LIPS: และคุณก็เป็นศิลปินหญิงตัวเล็กที่ทำชิ้นงานใหญ่หลายเมตร
วิชชุลดา: มันมันส์มือ (หัวเราะ) เห็นวัสดุแล้วสนุกเลยทำไปเรื่อย บางทีเราทำงานกับองค์กรใหญ่ เขาไม่เข้าใจหรอกว่าการเอาขยะมาทำงานศิลปะคืออะไร เราก็จะบอกเขาว่าเราทำหน้าที่เปลี่ยนตัวเลขในรีพอร์ตของเขาให้กลายเป็นงานศิลปะ เช่น เอาขยะ 1,000 กิโลกรัมมาทำศิลปะ ส่วนใหญ่งานของเราเลยเป็นชิ้นใหญ่ไปตามเงื่อนไขนี้ เราอยากเป็นตัวกลางในการสื่อสารให้คนเข้าถึงและเข้าใจศิลปะได้ง่ายๆ เราไม่อยากให้ศิลปะอยู่ตามพิพิธภัณฑ์เท่านั้นด้วย ข้าวของทุกอย่างบนโลกล้วนมีความคิดสร้างสรรค์แฝงอยู่ ถ้าเราชูเรื่องความคิดสร้างสรรค์ก็จะช่วยลดปัญหาขยะและสิ่งแวดล้อมได้ การใช้วัสดุเหลือใช้หรือการคิดตั้งแต่ต้นทางให้เกิดขยะน้อยที่สุด เราเปรียบตัวเองเหมือนเป็นผู้ผลิตต้นทาง ดีไซเนอร์จะผลิตขยะได้เยอะหรือน้อยก็ได้โดยใช้ความคิดสร้างสรรค์
LIPS: ถ้ามองย้อนกลับไปดีไซเนอร์แต่ก่อนขาดกระบวนการคิดในจุดไหน โลกจึงกลายเป็นบ่อทิ้งขยะอย่างในทุกวันนี้
วิชชุลดา: ถ้าให้เรามอง ดีไซเนอร์แต่ก่อนผลิตข้าวของเพื่อตอบโจทย์การใช้งานของมนุษย์ ลำดับต่อๆไปจึงค่อยถึงเรื่องความยั่งยืน ในปัจจุบันนี้คิดแบบนี้ไม่ได้แล้ว ต้องยกเรื่องความยั่งยืนขึ้นมาก่อนแล้วค่อยคิดเรื่องจะตอบโจทย์การใช้งานอย่างไร ต้องจัดลำดับความสำคัญในกระบวนการออกแบบใหม่ แต่เราคิดว่าดีไซเนอร์ในตอนนี้เริ่มคิดเรื่องยั่งยืนก่อนกันมากขึ้นแล้ว มีหลายๆคนเลยที่ทำงานกับขยะแบบเรา แม้ว่าช่วงแรกๆที่ทำงานขึ้นมา คนไม่เห็นคุณค่ากันเท่าไร มองว่าก็ขยะ องค์กรก็ไม่เข้าใจ คนทั่วไปก็ไม่เข้าใจ สรุปคือเมื่อ 10 ปีก่อนไม่มีใครเข้าใจเราเลย
“ทุกวันนี้ต้องยกเรื่องความยั่งยืนขึ้นมาก่อน แล้วค่อยคิดเรื่องจะตอบโจทย์การใช้งาน เราต้องจัดลำดับความสำคัญในกระบวนการออกแบบใหม่”
LIPS: แล้วก้าวข้ามจุดนั้นได้อย่างไร จนเป็นศิลปินที่ทำงานกับขยะมาได้ 10 ปีแล้ว
วิชชุลดา: เราทำไปเรื่อยๆ แรกๆที่เจอคนไม่เข้าใจอาจหงุดหงิดใจบ้าง แต่การบังคับไม่ได้ทำให้คนเข้าใจเรา หรือการไปเปลี่ยนความคิดใครก็ทำไม่ได้ เขาไม่ได้เข้าใจแก่นแท้ เราลงมือทำไปเรื่อยๆดีกว่า พอตอนนี้คนเริ่มเจอผลกระทบเรื่องสิ่งแวดล้อมกับตัวเอง เช่น วันหนึ่งตื่นมาแล้วนึกว่ายังเป็นกลางคืนอยู่เพราะเมฆดำเชียว แต่นั่นคือเช้าแล้ว แต่ท้องฟ้าเต็มไปด้วยฝุ่น PM 2.5 คนเจอความเปลี่ยนแปลงทางสภาวะอากาศจริงๆที่ไม่ใช่แค่อากาศร้อน งั้นฉันเปิดพัดลม มันไม่ใช่แค่นั้นแล้ว ขณะเดียวกันเริ่มมีสื่อทำข่าวเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น ผึ้งสูญพันธุ์ คนเริ่มตระหนักว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมใกล้ตัวมากขึ้น ในเชิงการค้าเรามองว่าองค์กรเริ่มเห็นว่าขยะและเรื่องสิ่งแวดล้อมทำเงินได้ จากแต่ก่อนที่คนไม่เข้าใจเลย มันเกี่ยวข้องกับชีวิตฉันอย่างไร คนเริ่มเข้าใจว่ามันต่อยอดในเชิงธุรกิจได้
LIPS: จะมีอะไรสำคัญไปกว่าเรื่องปากท้องในประเทศกำลังพัฒนา
วิชชุลดา: ถูกต้อง แต่ก่อนองค์กรทำเรื่องสิ่งแวดล้อมเป็น CSR (Corporate Social Responsibility ความแตกต่างของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม) ต่อมาก็เป็น CSV (Creating Shared Value การสร้างคุณค่าร่วม) จนมาเป็น SE (Social Enterprise กิจการเพื่อสังคม) บางคนทำเพราะเป็นดีเอ็นเอของแบรนด์เลยก็มีเหมือนกัน และมีเรื่องการกีดกันทางการค้าที่จะเริ่มใช้ในปี 2023 เป็นต้นไป ผู้ผลิตที่ไม่มีฉลากด้านสิ่งแวดล้อมจะไม่สามารถทำการค้าในสหภาพยุโรปได้ มีผลบังคับใช้กับสินค้าทุกประเภทเลย นี่จะเป็นจุดที่บีบให้คนหันมาทำเรื่องสิ่งแวดล้อมมากขึ้นไม่ว่าคุณจะอินหรือไม่อินก็ตาม แต่คุณต้องทำแล้ว
ตัวเราเริ่มจากเห็นคุณค่าของวัสดุก่อน อย่างเราไปกดซื้อน้ำ 1 แก้วในร้านสะดวกซื้อ พอกินหมดก็ต้องทิ้งทั้งที่แก้วยังสภาพดีอยู่เลย งั้นเก็บไว้แล้วกัน เดี๋ยวเอาไปใช้ต่อ เริ่มจากเรื่องเล็กๆในชีวิตประจำวัน หรือในการเรียนศิลปกรรม เราไม่ได้มองวัสดุเหลือใช้ว่าเป็นขยะ ไม่ได้มองว่าแก้วน้ำหรือฝาขวดคือของเหลือใช้ แต่เรามองว่ามันคือวัสดุในการทำงาน ถ้าเราเอาไปต่อประดิษฐ์ก็จะกลายเป็นรถหรือเป็นสัตว์ประหลาดได้
LIPS: มีคนเคยบอกว่าถ้าเริ่มคิดจากวัสดุ ไม่ได้เริ่มคิดจากดีไซน์ก็เท่ากับเราคิดย้อนหลังสิ ไม่ได้คิดแบบก้าวหน้า
วิชชุลดา: แล้วแต่มุมมองแต่ละคน เราคิดว่าสิ่งที่เราทำตอนนี้เกิดนวัตกรรมทางความคิดในแง่ที่ว่าขยะเกิดขึ้นมาแล้วจะไปไหนต่อ เช่น บางองค์กรอยากให้เอาขยะมาสร้างผลงาน งั้นเราก็เอาขยะที่เขามีมาใช้เป็นต้นทางความคิดให้เหลือเศษของเศษวัสดุให้น้อยที่สุด เราว่านี่ก็เป็นนวัตกรรมทางความคิดเหมือนกันนะว่าเราจะจัดการกับวัสดุอย่างไร ตอนนี้มีสิ่งใหม่ๆเกิดขึ้นเยอะมากแล้ว ก็ควรจะเริ่มคิดจากสิ่งที่มีอยู่ได้แล้ว วัสดุล้นโลกไปหมด เราไม่ได้อยู่ในยุคแรกๆที่ต้องคิดสร้างสิ่งใหม่ๆเสมอ แต่ก็แล้วแต่มุมมองคนนะ นี่คือมุมมองของเรา
“ตั้งแต่ปี 2023 เป็นต้นไป ผู้ผลิตที่ไม่มีฉลากด้านสิ่งแวดล้อมจะไม่สามารถทำการค้าในสหภาพยุโรปได้ ไม่ว่าคุณจะอินหรือไม่อินก็ตาม แต่คุณต้องทำแล้ว”
LIPS: แล้วในการทำงานกับองค์หรือแบรนด์ต่างๆ มีกระบวนการทำงานอย่างไร หรือมีเงื่อนไขในการทำงานอย่างไร จึงไปลงเอยที่ Installation Art ชิ้นยักษ์ได้
วิชชุลดา: แบรนด์ส่วนใหญ่จะเข้าใจอยู่ก่อนแล้วว่าเราทำงานในลักษณะใด เขาจึงติดต่อเรามา หลายๆที่จะบอกว่ามีพื้นที่หรือมีขยะอยู่เท่านั้นเท่านี้ อยากให้เราเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นอะไรสักอย่างได้ไหม เราสร้างงานทั้ง Installation Art และโปรดักต์ชิ้นเล็กลงมา เช่น กระเป๋าหรือหมวก การสร้างงานก็ขึ้นอยู่กับวัสดุด้วย องค์กรบางแห่งบอกว่ามีของใหม่แต่ทำให้กลายเป็นของเก่าได้ไหมก็มี ซึ่งเราก็จะบอกว่าเราครีเอตจากของเก่าเท่านั้น ไม่สามารถทำงานในแบบนี้ได้
LIPS: สิ่งแรกๆที่เปิดเข้ามาเจอในเว็บไซต์ www.wishulada-art.com คือการหมุนเวียนวัสดุเหลือใช้ที่แบ่งประเภทและแสดงปริมาณเป็นกิโลกรัมให้เห็นกันไปเลย เช่น ฝาขวดพลาสติก 1,051.6 กิโลกรัม หลอดพลาสติก 229 กิโลกรัม เสื้อชูชีพ 32 กิโลกรัม ฯลฯ เก็บสถิติมานานหรือยัง
วิชชุลดา: เก็บมาตั้งแต่ปี 2018 ทุกการทำงานเราจะเก็บข้อมูลไว้หมดว่าเราใช้อะไรไปบ้าง ใช้ไปเท่าไร และมีการคำนวณคาร์บอนฟุตปริ๊นท์ด้วยแต่ไม่ได้ใส่ไว้ในเว็บไซต์ เราคำนวณเองได้เพราะเราเคยไปเข้าอบรมเรื่องนี้ เราจะคำนวณจากการใช้วัสดุอะไร ไปเอามาจากไหน ใช้จำนวนเท่าไร ขนส่งอย่างไร ใช้รถอะไร ขนส่งจากแหล่งของเก่ามาถึงสตูดิโอเป็นระยะทางกี่กิโลเมตร เป็นต้น
LIPS: เด็กสายศิลป์อย่างเราสามารถคำนวณอะไรแบบนี้ได้ นี่ไม่ได้มาเล่นๆนะ
วิชชุลดา: จริงจังสิ (หัวเราะ) เจอคนหลากหลายไง แรกๆก็จะเจอคนบอกว่า ทำงานกับขยะแล้วยังไง มันก็กลายเป็นขยะอีกก้อน เราเจอฟีดแบ็กและคอมเมนต์จากหลายๆที่ เราต้องเก็บมาคิดว่าจะปรับปรุงการทำงานของเราได้อย่างไรบ้าง เลยเป็นที่มาว่าทำไมเราตอบได้ทุกคำถามในงานที่เราทำ ไม่ว่าจะโดนยิงคำถามในเรื่องอะไรก็ตาม ในการทำงานศิลปะ การเป็นศิลปิน เราโดนมองอยู่แล้วว่าใช้ทรัพยากรฟุ่มเฟือย คนมองว่าศิลปะไม่ใช่เรื่องจำเป็นแล้วนี่ยังจะสร้างขยะอีก
เรายังเก็บข้อมูลเรื่องการกระจายรายได้ด้วย ในการทำงานก็จะมีเรื่องของชุมชนเข้ามาเกี่ยวข้อง ตอนนี้เราเริ่มปรับแบรนด์ให้เป็นวิสาหกิจชุมชน ทำเป็น SOCIAL ENTREPRISE เราจะสามารถส่งรีพอร์ทไปให้สวส. (สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจเพื่อสังคม) ได้เลยว่าสิ่งที่เราทำส่งผลต่อใครบ้าง อย่างไร เท่าไร เราอยากทำให้ลงลึกอย่างแท้จริงไปเลย
“เราต้องทำให้ตัวเราอยู่ได้ โลกอยู่ได้ จึงจะเกิดความสมดุลได้จริง”
LIPS: เวลาไปเจอชุมชน ได้เจอปัญหาหรืออุปสรรคในเรื่องความยั่งยืนหรือเศรษฐกิจสร้างสรรค์อย่างไรบ้าง
วิชชุลดา: สิ่งที่เราเจอจากชุมชนต่างๆก็คือ เขาอาจจะยังไม่รู้ว่ามันต่อยอดได้เยอะมากและสิ่งที่เขาทำอยู่น่ะทำดีแล้ว แต่ถ้ามีดีไซน์เข้าไปเสริมก็จะต่อยอดไปได้ไกล ดีไซเนอร์หรือศิลปินต่างๆควรเข้าไปช่วยเพื่อให้เขาอัพไซเคิลให้ได้มูลค่าเพิ่มขึ้น คนภายนอกชอบมองว่าคนในชุมชนคือชาวบ้าน เป็นคนที่ไม่มีความรู้เรื่องแยกขยะ การรีไซเคิลหรืออัพไซเคิล แต่จริงๆแล้วมีภูมิปัญญาของเขา เราเคยไปพะเยา จะไปทำดิสเพลย์ผ้าไหม แล้วไปเจอว่าคนในชุมชนเอาเศษผ้ามาเย็บเป็นพรมเช็ดเท้า นี่ก็คือการอัพไซเคิลแล้วนะ เราอยากให้ชุมชนต่างๆภูมิใจในสิ่งที่ทำ แต่ละที่มีภูมิปัญญาในการจัดการวัสดุเหลือใช้อยู่แล้ว เพียงแต่เขาไม่ได้มองว่ามันคือความสร้างสรรค์
เราอยากให้ชุมชนรู้สึกว่าฉันมีส่วนร่วมในการลดปัญหาขยะได้จากสิ่งที่เขาทำอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นการที่เขาเอาขวดน้ำมาล้างแล้วประดิษฐ์เป็นสิ่งต่างๆ ซึ่งนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายๆที่ก็ทำกันอยู่แล้วและเป็นสิ่งที่สร้างผลกระทบในทางบวกต่อสิ่งแวดล้อมได้มากโดยที่เขาไม่รู้ตัวเลยด้วยซ้ำ อยากให้มาดูภูมิปัญญาของชุมชนต่างๆ เช่น บางชุมชนเอาเศษผ้ามาเย็บเป็นหมวก ทำเป็นพรม เขาทำเรื่องความยั่งยืนมาก่อนที่จะมีคำว่าความยั่งยืนเสียอีก และคนมักจะคิดว่าอยากทำโปรเจกต์ใหญ่ๆให้เกิดผลกระทบเยอะๆในคราวเดียวเลยไม่ค่อยสนใจชุมชน แต่เราน่าจะหันมามองชุมชนต่างๆดูบ้าง แล้วประเทศไทยจะได้มีอัตลักษณ์และเอกลักษณ์มากขึ้นจากสิ่งที่เขาทำกันอยู่แล้วในแต่ละชุมชน
LIPS: เอาแนวคิดโอท็อปมาปรับใช้
วิชชุลดา: หนึ่งตำบล หนึ่งอัปไซเคิล
LIPS: งานรัฐมนตรีก็มา จะได้ไปทำเรื่องนโยบาย
วิชชุลดา: อยากทำเรื่องนโยบายแต่ไม่อยากเป็นรัฐมนตรี (หัวเราะ) เราอยากให้คนในประเทศภูมิใจในสิ่งที่ตัวเองมีก่อน มันมีดีอยู่เยอะมาก ไม่ต้องรอให้ศิลปินไทยไปดังจากต่างประเทศแล้วกลับมาจึงจะเป็นที่ยอมรับ ทำไมไม่ส่งเสริมกันแต่แรกอีกเรื่องคือเราอยากสร้างบาลานซ์ บางคนมีแพสชั่นเยอะมากในการทำเรื่องสิ่งแวดล้อม แต่ตัวคนทำเองอยู่รอดไม่ได้ มันก็ไม่ยั่งยืน แต่ถ้าคิดเรื่องกำไรโดยไม่สนใจโลกเลยก็ไม่ได้ เราต้องทำให้ตัวเราอยู่ได้ โลกอยู่ได้ จึงจะเกิดความสมดุลได้จริง
LIPS: ความยั่งยืนจะเป็นกระแสหรือกลายเป็นวิถีไปแล้ว
วิชชุลดา: ตอนนี้ยังเป็นกระแส แต่อีก 3-5 ปีข้างหน้าจะกลายเป็นวิถี เพราะเราจะถูกบีบให้ทำ แต่!จะทำแบบฟอกเขียวหรือเปล่านั่นเป็นอีกเรื่อง เพียงแต่ทุกคนต้องมุ่งไปสู่ทางนี้อยู่แล้ว เรื่องว่าจะทำจริงหรือไม่จริงต้องดูกันต่อไป ทุกคนอยากทำยั่งยืน แต่ไม่สามารถเปลี่ยนได้ทันที มันขึ้นอยู่กับหลายๆอย่าง อย่างถ้าแบรนด์หรือองค์กรจะเปลี่ยนขนาดนั้นคือต้องเปลี่ยนทุกอย่าง ซึ่งเขาอาจจะยังไม่พร้อม แต่สู้บอกเรามาตรงๆเลยดีกว่าจะมาย้อมแมว หรือทำในสิ่งที่ตัวเองทำได้ ไม่ใช่เห็นคนอื่นทำได้เยอะกว่าก็เอาบ้างโดยไม่ได้ดูตัวเอง ต้องดูตัวเองก่อนและเปลี่ยนในแบบที่ตัวเองทำได้
LIPS: คนที่ให้เงินสนับสนุนคนทำงานสิ่งแวดล้อมก็คือคนที่ทำลายสิ่งแวดล้อม แล้วจะแก้ปัญหาได้อย่างไร
วิชชุลดา: เราว่ามีคละเคล้ากันไป ปัจจุบันมีเรื่องการซื้อขายคาร์บอนเครดิต สมมติเราปล่อยมลพิษสูงมาก เราก็ไปซื้อคาร์บอนเครดิตจากองค์กรปลูกป่า ทำเรื่องลดขยะ แล้วเคลมตัวเองว่าเราช่วยโลกแล้ว แบบนี้ก็มี เราก็มานั่งคิดว่าแล้วจะเกิดความยั่งยืนได้อย่างไร จริงๆต้องเปลี่ยนกระบวนการผลิตและการจัดการ ไม่ใช่ทำทุกอย่างเหมือนเดิมและเอาเงินไปซื้อคาร์บอนเครดิต
LIPS: มองว่าพลาสติกเป็นผู้ร้ายไหม
วิชชุลดา: เดิมทีพลาสติกถูกสร้างขึ้นเพื่อให้เราใช้ทรัพยากรน้อยลง แต่มาถึงตอนนี้มันมีมากเกินไปก็ควรต้องลดการใช้ พลาสติกที่ไม่ควรใช้เลยคือแบบที่ใช้ครั้งเดียว เช่น หลอด ถุงแพ็กเกจจิ้ง แต่พลาสติกบางประเภทยังตอบโจทย์เรื่องการนำมาใช้ใหม่ ผู้บริโภคตอนนี้ลดการใช้พลาสติกเยอะมากแล้ว แต่ผู้ผลิตยังผลิตอยู่ ภาครัฐต้องทำให้วัสดุทดแทนพลาสติกราคาเทียบเท่าพลาสติกหรือโฟม เมื่อนั้นจึงจะลดการใช้พลาสติกได้จริง
“ถ้าแบรนด์หรือองค์กรยังไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนไปสู่ความยั่งยืน สู้บอกผู้บริโภคมาตรงๆเลยดีกว่าจะมาย้อมแมว”
LIPS: คุณยังทำเรื่อง TRASHION ด้วย คือเอาขยะมาทำเป็นโปรดักต์แฟชั่น เจอปัญหาหรืออุปสรรคบ้างไหม
วิชชุลดา: ถามว่าเจอไหม เจอเยอะด้วยที่มองว่าก็เอาเศษผ้ามาทำ ก็ไม่ได้มีอะไรมากมายนี่ อย่างแรกเลยเราจะดูคนก่อนที่จะพูดถึงที่มาที่ไปและกระบวนการทำงาน ต้นทาง ปลายทางเป็นอย่างไร คนที่ไม่เปิดใจเราจะดูออกแต่แรก เราก็จะไม่ได้บอกข้อมูลในเชิงลึก แต่ในต่างประเทศที่เราเจอมา เกาหลี ไต้หวัน ญี่ปุ่น ยุโรป จะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากๆ เขาว้าวมากๆกับงานคราฟต์อัปไซเคิลจากเศษวัสดุ ถ้าแบรนด์นอกพูดเรื่องสิ่งแวดล้อมกันเยอะๆก็จะเกิดผลในวงกว้างได้มากเลย อยากให้แบรนด์หันมาพูดเรื่องนี้กันมากขึ้น แต่อย่างที่เราบอกว่าในอนาคตทุกคนต้องถูกบีบให้ลงสนามสิ่งแวดล้อมอยู่แล้ว ทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค
LIPS: วัสดุชนิดไหนที่ชอบทำงานด้วยมากที่สุด
วิชชุลดา: เราชอบไปหมดทุกอย่าง วัสดุอะไรก็ได้ ตอนนี้ที่บ้านกลายเป็นโกดังและสตูดิโอทำงาน มีทั้งขยะที่องค์กรต่างๆส่งมาให้ เรารับซื้อขยะเองด้วย มาจากหลายทาง อยากบอกทุกคนว่าทุกวันนี้เราพูดเรื่องลดโลกร้อนด้วยการแจกถุงผ้าจนถุงผ้าเยอะมาก แต่กว่าจะได้ถุงผ้า 1 ชิ้น ต้องปลูกต้นไม้ ต้องทอผ้า ใช้ทรัพยาการมหาศาล ผ้าที่อันตรายที่สุดคือผ้าสปันบอนด์เพราะมีส่วนผสมของพลาสติก แต่คนเอามาทำถุงผ้าแจกกันเยอะมากเพราะราคาถูก น้ำหนักเบา กันน้ำได้นิดหน่อยแต่รีไซเคิลไม่ได้ เป็นตัวทำลายสิ่งแวดล้อมเลย ถ้าเลี่ยงได้ก็เลี่ยง หรือไม่ควรใช้อีกแล้วเลย แต่ถ้าลดการใช้ทรัพยากรลงจะช่วยโลกได้มากกว่า
Words: Suphakdipa Poolsap
Photos: Somkiat Kangsdalwirun