ปัจจุบันปัญหาภาวะโลกร้อนนั้นกลายเป็นปัญหาที่นานาประเทศทั่วโลกนั้นให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ทำให้ในระดับนานาชาติเราจะเห็นการรวมตัวของประเทศต่างๆ หรือแม้แต่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่มีการเคลื่อนไหวเพื่อแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมโดยเฉพาะการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอย่างรวดเร็วที่เป็นต้นเหตุของภัยธรรมชาติต่างๆ ที่รุนแรงขึ้นอย่างเช่น พายุ ภัยแล้ง ไฟป่า หรือแม้แต่การละลายของน้ำแข็งที่ขั้วโลกซึ่งทั้งหมดล้วนส่งผลต่อโลกและทุกชีวิตบนโลกใบนี้โดยตรง
ทำให้ในทุกๆ ปีองค์กรระดับโลกจะมีการประชุมร่วมกับรัฐบาลจากนานาประเทศเพื่อหารือในการแก้ไขปัญหาภาวะโลกร้อนและภัยธรรมชาติต่างๆ ซึ่งในปี 2022 นี้มีนโยบายและการเคลื่อนไหวด้านสิ่งแวดล้อมขององค์กรระดับนานาชาติและนานาประเทศทั่วโลกมากมายที่มาคอยช่วยแก้ไขปัญหาโลกนี้เพื่อแก้ไขให้สภาพภูมิอากาศของโลกนั้นดียิ่งขึ้นเพื่อรักษาอุณหภูมิโลกของเราไม่ให้สูงจนเกินไป โดยมุ่งเน้นไปยังต้นตอของปัญหาด้านสภาพอากาศและภัยธรรมชาติที่เป็นตัวการทำลายโลกและสิ่งมีชีวิตบนโลกนี้
วันนี้ LIPS เลยรวบรวมนโยบายและประเด็นทางสิ่งแวดล้อมต่างๆ ที่ทุกคนควรรู้เพื่อเป็นอีกหนึ่งกระบอกเสียงและเป็นอีกหนึ่งในประชากรของโลกที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมเพื่อช่วยกันรักษาโลกของเราไว้ให้สะอาดและปลอดภัยที่สุด โดยเราจะแบ่งเป็นหัวข้อต่างๆ ดังนี้
การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังในทุกภาคส่วน
ก๊าซเรือนกระจกเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้โลกของเรามีอุณหภูมิสูงขึ้นซึ่งเป็นสาเหตุของความแปรปรวนของระบบนิเวศ ภัยธรรมชาติ และความแปรปรวนทางสภาพอากาศทั่วโลก ดังนั้นเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายของข้อตกลงปารีสหรือ Paris Agreement ที่ต้องการรักษาการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเพื่อรักษาธรรมชาติของโลกนี้ให้คงอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ที่สุด
ทำให้ในการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 26 หรือ COP26 เมื่อเดินพฤศจิกายนปีที่แล้วรัฐบาลของหลายๆ ประเทศนั้นเห็นพ้องต้องกันเพื่อที่หาแนวทางในการสร้างแผนปฏิบัติการด้านสภาพอากาศในทุกๆ ปี ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่จะสร้างแผนทุกๆ 5 ปีตามที่กำหนดไว้ในข้อตกลงปารีสเพื่อพยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของผู้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกรายใหญ่ซึ่งเป็นเหล่าประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจทั่วโลกอย่าง จีน สหรัฐอเมริกา อินเดีย รัสเซีย ญี่ปุ่น และสมาชิกของสหภาพยุโรป (EU)
Niklas Höhne ผู้ร่วมก่อนตั้ง NewClimate Institute ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยในเยอรมนีด้านสิ่งแวดล้อม คาดการว่าหากรัฐบาลทั่วโลกยังคงไม่ได้ให้ความสำคัญกับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมาเท่าที่ควรในปี 2030 จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลกสูงเป็นสองเท่าซึ่งเกินกว่าที่เราจะสามารถจำกัดการเพิ่มของอุณหภูมิเฉลี่ยโลกให้อยู่ที่ 1.5 องศาเซลเซียส ทำให้รัฐบาลทั่วโลกจึงตัวสร้างแผนปฏิบัติการด้านสภาพอากาศในทุกๆ ปีเพื่อลดการเพิ่มจำนวนของก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากที่สุด
ยุติงบพัฒนาพลังงานฟอสซิล
นอกจากก๊าซเรือนกระจกแล้วพลังงานฟอสซิลจำพวกน้ำมัน ถ่านหิน และก๊าซธรรมชาติต่างๆ ก็เป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ทำให้โลกของเรานั้นร้อนขึ้นอย่างรวดเร็วเพราะในกระบวนการสร้างพลังงานฟอสซิลนั้นปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลที่ทำลายชั้นบรรยากาศโลกซึ่งเปรียบเสมือนฟองน้ำที่ดูดซับพลังงานแสงอาทิตย์และในขณะเดียวกันก็ควบคุมความร้อนของโลกให้อยู่ในสภาวะที่เหมาะสมต่อสิ่งมีชีวิต
หนึ่งในการเคลื่อนไหวของรัฐบาลทั่วโลกจากการประชุมสุดยอดด้านสภาพอากาศของสหประชาชาติครั้งที่ 26 หรือ COP26 ก็คือการที่รัฐบาลของหลายๆ ประเทศกว่า 190 ประเทศรวมถึงองค์กรต่างๆ จะยุติการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินและหยุดสร้างโรงงานแห่งใหม่ตามข้อตกลงจากการประชุมในครั้งนี้ นอกจากนั้นต้องหยุดและเลิกสนับสนุนเชื้อเพลิงฟอสซิลชนิดอื่นๆ ทั้งในประเทศของตัวเองและประเทศที่กำลังพัฒนา โดยจะนำเงินสนับสนุนพลังงานฟอสซิลเหล่านี้ไปสนับสนุนประเทศยากจนลงทุนในพลังงานสะอาดแทน
มีหลายๆ องค์กรบนโลกนี้ที่ไม่เห็นด้วยกับข้อตกลงนี้ แต่องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมหลายๆ แห่งออกมากล่าวว่าเงินอุดหนุนเชื้องเพลิงฟอสซิลร่วมถึงการช่วยเหลือด้านเทคนิคต่างๆ ที่ทำให้น้ำมัน ก๊าซ และถ่านหินซึ่งเป็นพลังงานฟอสซิลนั้นต่ำเกินจริงจะเป็นตัวการขัดขวางการใช้พลังงานหมุนเวียนต่างๆ เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังงานน้ำ ซึ่งเป็นพลังงานที่ใช้แล้วไม่หมดไปสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้และมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยมากๆ
การเปลี่ยนผ่านอย่างเป็นธรรม
ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะไม่ใช่เรื่องโดยตรงที่กระทบต่อสิ่งแวดล้อมและโลกของเรา แต่แรงกดดันในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากพลังงานฟอสซิลและเปลี่ยนไปใช้พลังงานสะอาดอย่างพลังงานหมุนเวียน ทำให้ประเทศหลายๆ ประเทศนั้นมีความกังวลว่ามันจะไปกระทบต่อคนงานที่อยู่ในอุตสาหกรรมคาร์บอนสูงหรือพลังงานฟอสซิลอย่างไร การหยุดใช้พลังงานฟอสซิลนั้นมันอาจทำให้คนจำนวนหลายล้านคนอาจจะตกงานอย่างไม่รู้ตัวซึ่งกลายเป็นอีกปัญหาที่นานาชาติควรให้ความสำคัญ
รัฐบาลทั่วโลกเริ่มเข้าใจปัญหาตรงนี้มากขึ้นและให้การสนับสนุนในด้านต่างๆ เช่น การอบรมสำหรับงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม การระดมทุนเพื่อจัดตั้งธุรกิจใหม่ในพื้นที่อุตสาหกรรมถ่านหินและน้ำมันในอดีตเพื่อที่จะพาผู้คนและชุมชนที่อาจจะต้องตกงานไปสู่อุตสาหกรรมใหม่ที่สะอาดขึ้นและสร้างอาชีพให้พวกเขาได้ ในงาน COP26 รัฐบาลของหลายๆ ประเทศจึงทุ่มเงินหลายพันล้านเหรียญสหรัฐฯ เพื่อสนับสนุนและช่วยเหลือประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ที่ต้องพึ่งพาพลังงานถ่านหิน เช่น แอฟริกาใต้ อินเดีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์
การปรับตัวต่อผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ปัจจุบันนี้โลกของเราเกิดภัยธรรมชาติจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศขึ้นมากมายทั่วโลก โดยเฉพาะปีที่แล้วที่มีตั้งแต่พายุเฮอริเคนไอดาที่สหรัฐอเมริกา อุทกภัยครั้งใหญ่ในยุโรปและจีน รวมถึงความแห้งแร้งในแอฟริกาตะวันออก ซึ่งภัยธรรมชาติเหล่านี้นั้นทำให้เกิดความสูญเสียหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2021 และทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ที่ต้องพบเจอกับภัยธรรมชาติเหล่านั้นต้องทุกข์ทรมานอย่างหนัก
ซึ่งคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศหรือ IPCC ได้มีรายงานสำคัญซึ่งเผยแพร่ในเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมาว่ามนุษย์และธรรมชาติจะมีความเสี่ยงในด้านภัยธรรมชาติและภาวะโลกร้อนมากกว่าที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ไว้ เพราะว่าปัจจุบันโลกของเราร้อนขึ้น 1.1 องศาเซลเซียสและเมื่อพุ่งสูงถึง 1.5 องศาเซลเซียสซึ่งการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกขั้นต่ำที่เราตั้งไว้มนุษยชาติจะต้องเจอกับภัยพิบัติอะไรบ้าง
เพราะว่าในปัจจุบันความเหลื่อมล้ำทางสังคมและเศรษฐกิจกำลังทวีความรุนแรงขึ้นจากเหตุการณ์ต่างๆ บนโลกใบนี้ และผลของการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศจะทำให้หมู่คนยากจนนั้นทวีความรุนแรงขึ้นไปอีกซึ่งใน Paris Agreement นั้นได้กำหนดเป้าหมายระดับโลกในการปรับตัวเพื่อเสื่อมสร้างความยืดหยุ่นและลดความอ่อนแอต่อผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศผ่านโครงสร้างทางสังคมและรัฐสวัสดิการต่างๆ เช่น โครงสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็ง การเตือนล่วงหน้าเกี่ยวกับภัยพิบัติ และการปลูกพืชที่ทนต่อสภาวะรุนแรงได้
ตั้งเงินทุนสำหรับความสูญเสียและความเสียหาย
ปัจจุบันที่ภัยพิบัติจากสภาพอากาศแปรปรวนนั้นรุนแรงและเกิดบ่อยครั้งขึ้นประเทศที่ร่ำรวยที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนส่วนใหญ่จะถูกเพ่งเล็งและอยู่ภายใต้แรงกดดันให้ช่วยเหลือค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นซึ่งจะถูกนำไปช่วยเหลือประเทศยากจนและอ่อนแอแนวหน้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ
ซึ่งเงินระดมทุนก้อนนี้จะถูกนำไปใช้เพื่อเยียวยาความสูญเสียและความเสียหาย (Loss and Damage) ซึ่งเงินเหล่านี้จะต้องกระจายไปทั่วโลกตามความจำเป็นเพื่อขจัดปัญหาความอยุติธรรมของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในอดีตที่เหล่าประเทศยากจนนั้นมักจะฟื้นตัวช้ากว่าประเทศที่ร่ำรวยต่างๆ ซึ่งเรื่องความสูญเสียและความเสียหายนี้กลายเป็นประเด็นสำคัญในการประชุมสุดยอด COP26 ซึ่งประเทศต่างๆ ตกลงที่จะเจรจาเกี่ยวกับการให้เงินทุนสนับสนุนในการป้องกันและซ่อมแซมความเสียหายตั้งแต่บ้านเรือน ระบบนิเวศ ไปจนถึงมรดกทางวัฒนธรรมที่สูญหายและเสียหาย
การอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
ช่วงหลายปีที่ผ่านมามนุษย์เรานั้นเผชิญกับวิกฤตความหลากหลายทางชีวภาพลดลง ในหลายพื้นที่ของโลกใบนี้พืชพันธุ์และสัตว์จำนวนมากกำลังล้มตายและสูญหายไปจากหน้าประวัติศาสตร์ ดังนั้นการปกป้องระบบนิเวศ ป่าไม้ และการหยุดยั้งการลดลงของความหลากหลายทางชีวภาพคือกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทั่วโลก
ซึ่งในการประชุมสุดยอดด้านความหลากหลายทางชีวภาพครั้งที่ 15 หรือ CBD COP15 ที่จัดครึ่งเมื่อปลายปีที่แล้วและกำลังจะประชุมส่วนที่สองปลายเดือนนี้ที่ประเทศจีนนั้นประเด็นของการอยู่ร่วมกับธรรมชาตินั้นกลายเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจอย่างมากในการประชุมสำหรับอนุสัญญาด้านสิ่งแวดล้อมฉบับนี้ ซึ่งในการประชุมนี้นั้นประเทศต่างๆ ได้รับมอบหมายให้จัดทำข้อตกลงระดับโลกฉบับใหม่เพื่อปกป้องพืช สัตว์ และระบบนิเวศน์ซึ่งคล้ายกับข้อตกลงด้านสภาพอากาศอย่าง Paris Agreement
แต่การประชุมกลางปีที่แล้วถูกเลื่อนมาปลายเดือนนี้เนื่องจากการแพร่กระจายของโอไมครอน เราก็ต้องมาลุ้นกันว่าโลกของเราจะมีข้อตกลงด้านความหลากหลายทางชีวภาพฉบับใหม่ออกมาหรือไม่ เพราะว่าการแพร่กระจายและกลายพันธุ์ของไวรัสสายพันธุ์โอไมครอนอีกครั้งนั้นเป็นตัวแปรที่จะทำให้งานนี้ต้องเลื่อนออกไปอีกครั้งนึ่ง