Search
Close this search box.
Search
Close this search box.

Xspace “Final Call”

X-Discipline: designers who make art
Art & Design / Culture

คำถามที่ว่า “ความแตกต่างระหว่างงานศิลปะและงานออกแบบคืออะไร?” ชาร์ลส์ อีมส์ (Charles Eames) หนึ่งในนักออกแบบผู้ทรงอิทธิพลที่สุดแห่งศตวรรษที่ 20 เคยกล่าวไว้ว่า “งานออกแบบเป็นการแสดงออกของประโยชน์ใช้สอย มันอาจถูกยกให้เป็นงานศิลปะได้ในภายหลัง (ถ้ามันมีดีพอ)” สำหรับวงการออกแบบร่วมสมัยในยุคปัจจุบัน คำกล่าวนี้ดูจะเข้าเค้าเอาการ ด้วยความที่ศิลปินและนักออกแบบในยุคร่วมสมัยหลายคนมองว่าในปัจจุบันนั้นไม่มีพรมแดนระหว่างงานศิลปะและงานออกแบบอีกต่อไป

ถึงแม้จะมีบางคนเคยกล่าวเอาไว้ว่า หัวใจสำคัญที่สุดของงานออกแบบ คือ ฟังก์ชันหรือประโยชน์ใช้สอย และหัวใจสำคัญที่สุดของศิลปะ คือ สุนทรียะหรือความงาม แต่ในความเป็นจริงเราก็ต่างเคยพบเห็นงานศิลปะที่มีฟังก์ชัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง งานศิลปะร่วมสมัย หรืองานออกแบบที่เต็มเปี่ยมไปด้วยสุนทรียะ และความงามเกินหน้าประโยชน์ใช้สอย งานออกแบบในลักษณะนี้วิวัฒนาการมาจากงานออกแบบชั้นสูง (High design) ซึ่งเริ่มเป็นที่นิยมมาตั้งแต่ยุคทศวรรษ 1980s 

ในปัจจุบัน ศิลปินหรือนักออกแบบต่างร่วมกันลบเลือนขอบเขตระหว่างศิลปะ และงานออกแบบ ด้วยการสร้างสรรค์ผลงานที่ผสมผสานเอกลักษณ์ของทั้งสองฝั่งเข้าไว้ด้วยกัน ในวงการออกแบบ นักออกแบบร่วมสมัยหลายคนต่างก็ใส่ความงาม เพิ่มความหมาย คุณค่า เนื้อหาที่นอกเหนือไปจากประโยชน์ใช้สอยลงในผลงานของพวกเขา ส่วนในวงการศิลปะเอง ศิลปินร่วมสมัยหลายคนก็ต่างล้วนแล้วแต่สอดใส่ฟังก์ชันหรือประโยชน์ใช้สอยลงในผลงานศิลปะของพวกเขากันถ้วนหน้า

และถึงแม้เราจะหาคำตอบไม่ได้ ก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร เพราะท้ายที่สุด ไม่ว่าจะเป็นงานศิลปะหรืองานออกแบบ ก็ล้วนแล้วแต่ถูกสร้างสรรค์ออกมาจากมันสมอง และสองมือของมนุษย์เหมือน ๆ กัน 

นิทรรศการ X-Discipline: designers who make art ที่จะจัดแสดงในวันสุดท้ายวันที่ 30 มิถุนายนนี้ ณ Main Hall Xspace Gallery อาจช่วยตอกย้ำความเลือนรางของเส้นแบ่งพรมแดนระหว่างศิลปะ และงานออกแบบ ผ่านผลงานของเหล่านักออกแบบที่ข้ามสายการทำงานมาสู่พรมแดนของคำว่า “ศิลปะ” จำนวน 9 กลุ่ม อย่าง

thingsmatter – สองนักออกแบบแห่งสตูดิโอศิลปะและดีไซน์ร่วมสมัย กับผลงานที่หยิบเอารสนิยมท้องถิ่นที่เราพบเห็นตามท้องถนนหนทางในชนบทของประเทศไทยอย่าง หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์หลากสีสัน ที่ประดับตามต้นไม้ข้างทางหรืองานรื่นเริงเฉลิมฉลองมาเปลี่ยนเป็นผลงานประติมากรรมจลน์ (Kinetic sculpture) ในพื้นที่แกลเลอรีเพื่อเปลี่ยนมุมมองและประสบการณ์ของผู้ชมจากที่คุ้นเคย

วศินบุรี สุพานิชวรภาชน์ – ศิลปิน/นักออกแบบร่วมสมัยชาวไทยผู้มีผลงานในเป็นที่รู้จักในระดับสากล กับผลงานที่ใช้วัตถุในธรรมชาติอย่าง “ดิน” ผ่านกระบวนการเผาและเคลือบสี Cobalt และเทคนิคการเขียนสีบนเคลือบแบบเบญจรงค์ เพื่อแสดงสัญลักษณ์ของการผสมผสานการสรรเสริญความงามของธรรมชาติและการเลือกใช้ธรรมชาติอย่างเหมาะสม เข้ากับประวัติศาตร์การออกแบบงานดินเผาของไทยในอดีต ที่สะท้อนถึงบริบททางสังคม การเมือง

อุดม อุดมศรีอนันต์ และ วิไลลักษณ์ อุดมศรีอนันต์ – คู่รักศิลปิน/นักออกแบบและครีเอทีฟชาวไทยผู้เปี่ยมประสบการณ์ กับผลงานที่แสดงสภาวะคู่แห่งความสัมพันธ์ ที่มีทั้งความเหมือนและความแตกต่าง ระหว่างอารมณ์ความรู้สึกนึกคิดอันพรั่งพรูผ่านวัตถุสะสมนานาชนิดในตู้เก็บความทรงจำ (Shadow boxes) กับความสุขุมสงบนิ่งของวัตถุที่สะท้อนจิตวิญญาณแห่งธรรมชาติ

ปิยะวัฒน์ พัฒนภักดี – นักออกแบบชาวไทยผู้เคยทำงานในแบรนด์แฟชั่นชั้นนำของโลก กับผลงานที่สำแดงจิตวิญญาณแห่งแฟชั่นอันอิสรเสรี ไร้กรอบและกฎเกณฑ์ใดๆ ถ่ายทอดแรงบันดาลใจจากประสบการณ์ที่เคยสัมผัสภาพชีวิตอันเปี่ยมสีสันจัดจ้าน ของผู้คนบนท้องถนนในยามราตรีในมหานครนิวยอร์ก

Trimode Studio – สามนักออกแบบเลือดใหม่แห่งวงการดีไซน์ กับผลงานที่ถ่ายทอดความรู้สึกเพื่อบันทึกเรื่องราวที่มีต่อ “ระยะ” ในช่วงภาวการณ์การระบาดใหญ่ทั่วโลก ทั้งระยะของความสัมพันธ์ระหว่างคนต่อคน คนต่อวัตถุ หรือ คนต่อสถานที่ ด้วยการเปลี่ยนสถานภาพของวัตถุอุตสาหกรรมที่ไร้ความรู้สึกให้กลายเป็นศิลปวัตถุที่เปี่ยมอารมณ์ความรู้สึก

เอกรัตน์ วงษ์จริต – นักออกแบบชาวไทยผู้เป็นที่รู้จักในระดับสากล กับผลงานที่จินตนาการถึงอนาคตอันห่างไกลนับพันปีข้างหน้า ที่เปลี่ยนสถานะของขยะและข้าวของเหลือใช้อันไร้ค่าในวันนี้ ให้กลายเป็นศิลปวัตถุหรือแม้แต่สมบัติอันทรงคุณค่าอยู่ในพิพิธภัณฑ์ได้ด้วยพลังอำนาจของกาลเวลา

ศรัณย์ เย็นปัญญา – นักเล่าเรื่องร่วมสมัยแห่งวงการออกแบบ กับผลงานที่หยิบเอาวัตถุแห่งความเป็นไทยแบบกึ่งสำเร็จรูปที่เราชินตาอย่างหุ่นไหว้ไม้แกะสลักด้วยมือที่มักจะทำหน้าที่ต้อนรับแขกตามร้านอาหาร ร้านนวด และสถานบันเทิงของไทยที่ต้องการความเป็นไทยแบบเข้าใจง่าย เปี่ยมไปด้วยสิริมงคล มาตั้งคำถามเชิงเสียดสีถึงการคอรัปชั่นในการจัดซื้อจัดจ้างสาธารณวัตถุของภาครัฐได้อย่างแสบสันคันคะเยอ

ชูเกียรติ ลิขิตปัญญารัตน์ – นักออกแบบผู้คร่ำหวอดในวงการดีไซน์ กับผลงานศิลปะจัดวาง ที่หยิบเอาจินตนาการ ความรู้สึกนึกคิด รวมถึงประสบการณ์ ความหลงใหล การศึกษาเรียนรู้ และการใช้ชีวิตที่ผ่านมาของเขามาประมวลผลผ่านระบบอัลกอริทึมส่วนตัวจนกลายเป็นภาพแทนตนเอง ดังคำกล่าวที่ว่า “เรากินอะไร เราก็เป็นแบบนั้น” สิ่งละอันพันละน้อยเหล่านี้ถูกแสดงออกผ่านศิลปะวัตถุชิ้นเล็กชิ้นน้อยที่จัดแสดงภายในพิพิธภัณฑ์จำลอง หรืออันที่จริง พิพิธภัณฑ์แห่งจิตใจ (Museum of mind) ของเขานั่นเอง

ติดตามศิลปิน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ Official Line : @xspace, โทร: 06-6073-2332, Email: contact@xspacegallery.com

Related Articles

เว็บไซต์ของเราใช้คุกกี้เพื่อพัฒนาประสบการณ์การใช้งานที่ดีที่สุดให้กับผู้ใช้ เราได้อธิบายความหมายและวิธีการใช้คุกกี้ของเว็บไซต์ เพื่อให้คุณสามารถเข้าใจแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการเก็บรวบรวม ใช้ หรือการเปิดเผย รวมถึงทางเลือกในการใช้คุกกี้ของเรา อ่านเพิ่มเติม